"กองทัพอวกาศ“ สหรัฐฯ : 4 ปี กับคำถามที่ยังมีอยู่ว่ามีไว้ทำไม ? แล้วไทยมีกองทัพอวกาศหรือเปล่า !
เจาะลึก “กองทัพอวกาศ” ของสหรัฐอเมริกา กองทัพหน้าใหม่ที่อยู่ในพื้นที่สื่อเทคโนโลยีและอวกาศทั่วโลก (รวมถึง TNN Tech) ที่แม้แต่ชาวอเมริกันยังต้องถามว่ามีไว้ทำไม ?
แม้ว่ากองทัพอวกาศสหรัฐฯ หรือ U.S. Space Force เกิดขึ้น “อย่างเป็นทางการ” ในปี 2019 แต่จุดเริ่มต้นของหน่วยงานนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในปี 1945 ท่ามกลางการขับเคี่ยวทั้งทางเศรษฐกิจ สายลับ และทหารระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ก็มีโครงการทางการทหารเกี่ยวกับอวกาศขึ้นมาเหมือนกัน
จนกระทั่ง 9 ปีต่อมา หรือในปี 1954 จึงได้เกิดแผนกพัฒนาตะวันตก (Western Development Division) ขึ้นมา ซึ่งนับเป็นหน่วยงานอวกาศแรกของโลก และเป็นรากฐานของกองทั้พอวกาศสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โดยหน่วยงานนี้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการทหารด้านอวกาศ การพัฒนาโครงการอวกาศด้านการทหาร ดาวเทียม จรวด การสอดแนมด้วยดาวเทียม ซึ่งเคียงคู่และทำงานอยู่เบื้องหลังทุกปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอดีตที่ผ่านมา
โครงสร้างการบริหารก่อนเป็นกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
แต่ว่าแต่ละภารกิจนั้น หน่วยงานนี้กลับมีชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น สงครามเวียดนาม ที่กินเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 1955 จนถึง 1975 หน่วยนี้ที่คอยสนับสนุนสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง ก็ได้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว ถึง 3 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากเปลี่ยนขอบเขตความรับผิดชอบและสังกัดภายในกองทัพ โดยครั้งแรก เปลี่ยนเป็น Air Force Ballistic Missile Division (AFBMD) ในปี 1957 แล้วเปลี่ยนเป็น Space Systems Division (SSD) ในปี 1961 และ Space and Missile Systems Organization (SAMSO) ในปี 1967
การเปลี่ยนชื่อหน่วยงานนี้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือสายการบังคับบัญชา ก็คือยังเป็นเพียงหน่วยในกองทัพอากาศของสหรัฐฯ เท่านั้น โดยนับตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปี 2019 หน่วยงานนี้มีชื่อกว่า 7 ชื่อ ด้วยกัน การเปลี่ยนชื่อนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการปรับเปลี่ยนภารกิจที่ต่างกันออกไป ซึ่งในสภาคองเกรสเองก็มีความพยายามยกระดับจากหน่วยงานที่โดนเปลี่ยนชื่อซ้ำไปซ้ำมา แยกตัวออกมาเป็นกองทัพ
ในปี 1982 ประธานาธิบดีในตอนนั้นคือ โรนัลด์ เรแกน ก็ตั้งใจจะดันหน่วยงานนี้ให้เป็นกองทัพ ภายใต้โครงการ Star Wars ที่ยกระดับการป้องกันทางการทหาร จากอาวุธหรือภัยต่าง ๆ ที่ตกลงมาจากฟากฟ้า แต่ว่าไม่ใช่เครื่องบิน เช่น ชีปนาวุธหรือแม้แต่อาวุธจากนอกโลก แต่สุดท้าย โครงการนี้ก็ถูกพับไปจากแผนการที่ใช้งบมหาศาลและการสร้างเทคโนโลยีที่เหนือความเป็นจริงในเวลานั้น
และระหว่างปี 2007 - 2011 ก็พยายามรื้อฟื้นอีกครั้ง แต่โศกนาฏกรรม 9/11 ผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินพลีชีพชนตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ก็ทำให้ความเร่งด่วนในการตามล่าอุซามะห์ บินลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์ นั้นต้องมาก่อน จนพับโครงการตั้งกองทัพอวกาศอีกครั้ง ก่อนที่โดนัลป์ ทรัมป์ จะสานต่อความตั้งใจนี้ให้สำเร็จได้ในวันที่ 20 ธันวาคม ปี 2019
ภารกิจของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ภารกิจของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และชาวอเมริกัน โดยในประมวลกฎหมาย (United States Code) ที่ตราขึ้นเพื่อตั้งกองทัพอวกาศของสหรัฐฯ ระบุภารกิจหลักเอาไว้ว่า
1. สร้างเสรีภาพในการปฏิบัติการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งใน จาก และที่ส่งไปยังอวกาศ
Provide freedom of operation for the United States in, from, and to space;
2. จัดการภารกิจใด ๆ ด้านอวกาศ
Conduct space operations
3. ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริการูปแบบใด ๆ ที่อยู่ในอวกาศ
Protect the interests of the United States in space.
หรือโดยสรุปแล้ว ทั้ง 3 ข้อนี้ คือการบอกให้กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ปกป้องทั้งบุคคล ทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะเป็นดาวเทียม จรวด ยานอวกาศ หรืออวกาศยานใด ๆ ก็ได้ที่เป็นของสหรัฐอเมริกา รวมถึงภารกิจใด ๆ จากทั้งฝั่งทหารและพลเรือน นับตั้งแต่ปล่อยจากพื้นโลกขึ้นไปอวกาศ จนกระทั่งมันกลับลงมายังโลก ซึ่งนับเป็นหัวใจการพัฒนากองทัพ
องค์ประกอบของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
องค์ประกอบของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในปัจจุบันนั้นมีลำดับบังคับบัญชาที่ชัดเจน และแยกออกมาจากองทัพอากาศแล้ว แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ทบวงทหารอากาศสหรัฐฯ ในส่วนการบริหารใหญ่สุด แต่สิ่งที่เราจะเน้นเล่าในคลิปนี้ คือกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และหน้าที่ของกองทัพอวกาศ
บุคลากรของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนกว่า 16,000 ตำแหน่ง ได้โยกย้ายจากสังกัดเดิมคือกองทัพอากาศ มาเป็นกำลังพลในกองทัพใหม่ที่ชื่อว่ากองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในปีที่ถือกำเนิดขึ้นมา ก่อนที่จะปรับตำแหน่งให้เหลือ 8,600 คน ในปัจจุบัน
กำลังพลทั้งหมดนี้กระจายกำลังไปตามฐานทัพในประเทศรวม 6 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ใกล้กับ Kennedy Space Center ศูนย์อวกาศและสถานที่ยิงยานอวกาศชื่อดังของ NASA ด้วย และกองทัพอวกาศยังมีฐานนอกแผ่นดินใหญ่อย่างฮาวาย และต่างประเทศอย่างกรีนแลนด์และสหราชอาณาจักร รวมอีก 8 แห่ง
ยุทโธปกรณ์ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
เรื่องถัดมาก็คือ ยุทโธปกรณ์ กองทัพอวกาศไม่ได้มีอาวุธแบบที่กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศของสหรัฐฯ มีไว้ใช้ แต่เป็นอาวุธเชิงป้องกันอย่าง ดาวเทียม เรดาร์ และยานอวกาศ
จากข้อมูลสรุปหรือ Factsheet ที่กองทัพเปิดเผยในปัจจุบัน ที่รายงานว่ากองทัพอวกาศมี อวกาศยาน (Spacecraft) ทุกแบบรวมทั้งหมด 77 หน่วย เป็นดาวเทียม 16 ระบบ เครื่องบินทดสอบวงโคจร X-37B อีก 2 เครื่อง ระบบตรวจการณ์อวกาศอีก 10 ระบบ
การบำรุงรักษาอวกาศยานเหล่านี้ พร้อมกับการจ้างบุคลากรและการวิจัยพัฒนา ได้ทำให้กองทัพอวกาศสหรัฐ มีงบในปีงบประมาณ 2023 ทั้งสิ้น 26,289,848,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 943,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานที่ใช้งบน้อยที่สุดในทุกเหล่าทัพ แต่งบที่ใช้นั่นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีแรกที่ตั้งกองทัพ หรือปี 2019 ใช้งบทั้งหมด 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท ตามค่าเงินในตอนนั้น เพื่อใช้เป็นการโยกย้ายหน่วยงานกับค่าก่อสร้างศูนย์บัญชาการ ก่อนที่งบจะไต่ขึ้นจากหลักสิบล้าน เป็น 26,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 นี้
และงบปี 2024 ก็ตั้งไว้สูงถึง 30,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเลขปีงบประมาณ 2024 ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ นั้นมากกว่างบของกระทวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงการคลังของไทย ซึ่งรวมกันได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณเดียวกัน
บทบาทและหน้าที่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ
ความสามารถของระบบยุทโธปกรณ์กองทัพอวกาศสหรัฐฯ
อวกาศยานกว่า 77 หน่วย มีความสามารถที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ระบบนำทางที่นิยมเรียกว่าจีพีเอส (GPS) ไม่ว่าจะในมือถือหรือว่าบนรถยนต์ แท้จริงแล้วเป็นระบบระบุตำแหน่งและนำทางด้วยดาวเทียมที่พัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและกำกับดูแล
นอกจากนี้ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ยังมีระบบ Defense Support Program (DSP) ดาวเทียมที่ทำหน้าที่เตือนการยิงขีปนาวุธที่ขึ้นมาสู่ชั้นบรรยากาศหรือแม้แต่ขึ้นมาระดับชั้นอวกาศ และระบบ SSPARS (Solid State Phased Array Radar System) เรดาร์ที่เตือนภัยจรวดได้ตั้งแต่จรวดยังอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดจนระบบอื่น ๆ ที่เป็นการป้องกัน ติดตาม วัตถุจากนอกโลกหรือวัตถุที่ถูกยิงส่งขึ้นมายังชั้นอวกาศในขอบเขตเทคโนโลยีที่ต่างกันออกไป
ในมุมมองหนึ่งแล้วการมีดาวเทียมและระบบต่อต้านภัยทางอวกาศที่ล้ำสมัยในปริมาณเกือบ 80 ชิ้น อาจจะดูแล้วลงทุนมหาศาล แต่ในมุมของสหรัฐฯ แล้ว การต้องรับมือวัตถุอวกาศกว่า 44,500 ชิ้น ที่กำลังโคจรรอบโลก ซึ่งในนั้นเป็นดาวเทียมกว่า 9,000 ดวง และขยะอวกาศอีกกว่า 19,000 ชิ้น ก็อาจจะมองว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อภัยจากอวกาศ
บทบาทหลักของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
หน้าเว็บไซต์รับสมัครเจ้าหน้าที่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้ระบุหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของกองทัพเอาไว้ว่าเป็นการทำให้ดาวเทียมของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่โคจรอยู่รอบโลกนั้นปลอดภัย นอกจากนั้น กองทัพอวกาศยังต้องมีหน้าที่ในการประสานและทำให้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมนั้นปลอดภัยและไร้รอยต่อ เพื่อทั้งประโยชน์ทางการทหารและการช่วยเหลือภัยพิบัติในประเทศ รวมถึงดูแลการปล่อยจรวดตั้งแต่เริ่มสร้างไปจนถึงตอนปล่อยสู่อวกาศด้วย
นักวิเคราะห์อาวุโสของกองทัพฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ New York Times โดยยกตัวอย่างการเตรียมระบบและอุปกรณ์รับมือการทำลายดาวเทียมจากฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ ซึ่งกองทัพอวกาศ จึงจำเป็นต้องมีระบบทำลายดาวเทียมฝ่ายตรงข้ามและระบบต่อต้านการทำลายดาวเทียมด้วย
หรือสถานการณ์ตัวอย่างสมมติ ที่มีการยิงชีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มายังสหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ จะต้องรับมือการทำลายดาวเทียมจากฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากดาวเทียมมีหน้าที่ติดตามตำแหน่งและสกัดกั้นการยิง รวมถึงกองทัพฯ ยังมีหน้าที่ทำให้ดาวเทียมทหารของประเทศที่ถูกทำลาย ต้องมีทดแทนภายในระยะเวลา 60 ชั่วโมง
บทบาทอื่น ๆ ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
แต่นอกเหนือจากการรับมือภัยคุกคามที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ตามมุมมองของรัฐบาลสหรัฐแล้ว กองทัพอวกาศยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมการวิจัยทางอวกาศและการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการเลือกส่งดาวเทียมต่าง ๆ ด้วยบริษัทขนส่งอวกาศในสหรัฐ อย่างจรวด Falcon 9 และ Falcon Heavy ของ SpaceX รวมไปถึง Atlas V ของ United Launch Alliance และจรวดขนส่งขนาดเล็กอย่าง Electron ของบริษัท Rocket Lab
นอกจากการกระจายเม็ดเงินไปสู่ภาคเอกชนแล้ว กองทัพอวกาศสหรัฐ ยังมีระบบดาวเทียม Defense Meteorological Satellite Program (DMSP) ที่พัฒนาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและได้รับการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหน้าที่ติดตามสภาพภูมิอากาศโลก ก่อนแบ่งปันข้อมูลที่รวบรวมได้ให้กับ NASA และ USGS ที่เป็นหน่วยงานด้านภูมิศาสตร์ของชาติ ในการศึกษาวิจัยด้วยเช่นกัน
ความแตกต่างระหว่าง NASA กับกองทัพอวกาศสหรัฐฯ
USA Facts ที่เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (Non-Government Organization: NGO) ได้จำแนกความแตกต่างระหว่าง NASA กับกองทัพฯ เป็นเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาระบบนิเวศทางอวกาศระหว่างการผลักดันทางวิทยาศาสตร์กับด้านการทหาร
โดยหนึ่งในโครงการที่รู้จักกันมากที่สุดของ NASA ยุคปัจจุบัน ก็คืออาร์เทมิส (Artemis) โครงการที่จะส่งคนกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบหลายสิบปี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งคนไปอยู่นอกโลกโดย Artemis ได้ดึงเอกชนมาร่วมพัฒนาหลายส่วน เช่นจรวดขนส่ง SLS ที่จะใช้ส่งยานไปดวงจันทร์ ได้เปิดให้บริษัทเอกชนหลายรายมาพัฒนา รวมไปถึงการเลือกยานขนส่ง Starship จาก SpaceX ในภารกิจส่งคนไปลงดวงจันทร์ในปี 2026 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเช่นกัน
ในขณะที่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีโครงการทดสอบทางอวกาศ อย่างเช่น เครื่องบินอวกาศ X-37B ที่ดึงเอกชนอย่างโบอิ้ง (Boeing) มาพัฒนา แต่เป้าหมายหลักของการทดสอบนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการทหารและความมั่นคง โดยเครื่องบินอวกาศลำนี้ได้ตกเป็นข่าวลือว่าใช้สอดแนมรัสเซีย
หรือแม้แต่เป็นเครื่องบินจิ๋วสำหรับทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ในมุมมองของรัสเซีย จากการให้สัมภาษณ์ของยาน โนวิคอฟ (Yan Novikov) ผู้อำนวยการทั่วไปของอัลมาซ แอนเทย์ (Almaz-Antey) บริษัททางการทหารที่เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย แต่ฝั่งสหรัฐฯ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ส่วนภารกิจอย่างเป็นทางการของ X-37B ก็คือการทดลองและการส่งอุปกรณ์ที่เป็นความลับทางการทหารไปยังอวกาศเท่านั้น
กองทัพอวกาศในประเทศอื่น ๆ นอกจากสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เองนั้นมีที่มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตเองก็มีกองทัพอวกาศในยุคเดียวกัน โดยใน 1 ปีหลังเกิดรากฐานกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ขึ้นมา หน่วยงานที่ชื่อว่าเทย์กา อินสตอลเลชัน หรือออกเบียต เทย์กา (Tayga Installation: Обект «Тайга») ได้ถือกำเนิดมาด้วยหน้าที่คล้ายคลึงกัน ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดกลายเป็นกองทัพอวกาศรัสเซีย (Russian Space Forces) ในปี 1992 แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างหรือยุบกองทัพหลายครั้ง แต่ก็สามารถกลับมาเป็นกองทัพอีกครั้งในปี 2015 ก่อนหน้ากองทัพอวกาศสหรัฐฯ 4 ปี
และในวันส่งท้ายปี 2015 ประเทศจีนได้ก่อตั้ง กองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์กองทัพปลดปล่อยประชาชน ขึ้นมา และบรรจุแผนให้สงครามอวกาศเป็นหนึ่งในแผนแม่บทสำคัญที่ต้องรับมือเช่นกัน
ในขณะที่ไทยเอง กองทัพอากาศได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ ขึ้นมาในปี 2019 โดยมีหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามและปกป้องผลประโยชน์ทางอวกาศของไทยเช่นกัน โดยมียุทโธปกรณ์เป็นดาวเทียมสำรวจอย่าง นภา 1 (NAPA-1) และ นภา 2 (NAPA-2) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการสร้างผลประโยชน์ทางอวกาศด้วย
ข้อมูลจาก Britannica, Cornell University, USA Facts, Wikipedia, Space Forces (U.S. Recruitment), New York Times, Popular Mechanics, The National Interest, Space News, SPOC (กองทัพอากาศไทย)
ภาพจาก Flickr, U.S. Space Forces
ข่าวแนะนำ