Yamaha เจ๋ง ! เปิดตัวเครื่องยนต์ติดท้ายเรือพลังงานไฮโดรเจนเครื่องแรกของโลก
Yamaha ได้ร่วมกับ Roush และ Regular Marine พัฒนาเครื่องยนต์แบบติดท้ายเรือพลังงานไฮโดรเจนเครื่องแรกของโลก เชื่อว่าไฮโดรเจนเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ยามาฮ่า มอเตอร์ คอปอร์เรชัน (Yamaha Motor Corporation) บริษัทผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัทวิศวกรรมยานยนต์ชื่อดังจากสหรัฐฯ อย่าง รูช (Roush) เพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ติดท้ายเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนเครื่องแรกของโลก โดยจะใช้สำหรับเรือสันทนาการ (Recreational Boat) ซึ่งเรือดังกล่าว สร้างโดยบริษัทผู้สร้างเรือสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง เรกูลาร์ มารีน (Regular Marine)
บริษัทเคลมว่า นี่คือเครื่องยนต์ติดท้ายเรือพลังไฮโดรเจนเครื่องแรกของโลก โดนจะใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งเชื้อเพลิง ประกอบด้วยถังและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเก็บและส่งไฮโดรเจนไปยังเครื่องยนต์ ส่วนรายละเอียดอย่างสเป็ก ความเร็ว วัสดุที่นำมาสร้างตัวต้นแบบ บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยออกมา แต่ถือว่าเทคโนโลยีนี้เป็นทางเลือกใหม่แทนเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลแบบเดิม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเรือเพื่อการสันทนาการ
ส่วนการร่วมมือกับบริษัทรูชก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะรูชมีประสบการณ์ด้านยานพาหนะพลังงานไฮโดรเจนหลากหลายประเภท ตั้งแต่ยานพาหนะภาคพื้นดินไปจนถึงยานอวกาศ แมตต์ แวน เบนสโคเทน (Matt Van Benschoten) รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของรูชบอกว่า “เราเป็นผู้วางระบบและออกแบบระบบเชื้อเพลิง การวิเคราะห์ระบบความปลอดภัย ตลอดจนการทดสอบและพัฒนา ส่วนยามาฮ่ากำลังพิจารณาว่าไฮโดรเจนสามารถนำมาใช้ได้สำเร็จในตลาดเรือหรือไม่ และผมคิดว่าเราจะได้คำตอบว่า 'ใช่' ”
ส่วนบริษัทเรกูลาร์ มารีน รับผิดชอบการพัฒนาเรือที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ระบบไฮโดรเจน โดยได้สร้างตัวถังของเรือที่ได้ต้นแบบมาจากเรือรุ่น 26XO ก่อนจะนำมาดัดแปลงเพื่อให้มันสามารถใช้กับถังไฮโดรเจนได้
เบน สเปเชียล (Ben Speciale) ประธานหน่วยธุรกิจทางทะเลของยามาฮ่าประจำสหรัฐฯ เชื่อว่า ไฮโดรเจนเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2035 และยามาฮ่าต้องการเป็นผู้นำเรือไฮโดรเจน รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทเดินเรืออื่น ๆ หันมาพัฒนาเรือไฮโดรเจนด้วย
ทั้งนี้ สำหรับเรือเพื่อการสันทนาการของทั้งโลกนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับเรือขนส่ง ซึ่งแค่เรือของสหรัฐฯ ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.7% ส่วนเรือขนส่งของยุโรปปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.4% แต่แม้จะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่อุตสาหกรรมเรือเพื่อการสันทนาการก็พยายามหาวิธีลดมลพิษจากเครื่องยนต์เรือมาโดยตลอด และตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็นับว่าช่วยลดมลพิษได้เยอะมาก เช่น ในสหรัฐฯ ลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์เรือได้มากกว่า 90% เป็นต้น ซึ่งส่วนที่น่าสนใจก็คือยามาฮ่าถือเป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้
สำหรับเรือและเครื่องยนต์รุ่นต้นแบบนี้ มีกำหนดการณ์ทดสอบทางน้ำในช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน - สิงหาคม) ปี 2024
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Yamaha
ที่มารูปภาพ Yamahamarinemedia
ข่าวแนะนำ