NARIT เผยกล้องโทรทรรศน์วิทยุไทย 40 ม. พร้อมเชื่อมกล้องจากยุโรป ไขปริศนาเอกภพ
NARIT เผยกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาด 40 เมตร พร้อมผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายกล้องจากยุโรป เพื่อความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ ช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจธรรมชาติของวัตถุต่าง ๆ ในเอกภพ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาด 40 เมตร พร้อมเข้าร่วมเครือข่ายนานาชาติ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลแห่งสหภาพยุโรป (Joint Institute for VLBI (very-long-baseline-interferometry) European Research Infrastructure Consortium หรือ JIVE) ขยายขีดความสามารถและศักยภาพให้ทำงานร่วมกันเสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ข้ามทวีป เพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจในธรรมชาติของวัตถุต่าง ๆ ในเอกภพ เช่น หลุมดำ ดาวนิวตรอน สสารมืด ฯลฯ ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร. อักเนียสกา สโลวิคอฟสกา (Agnieszka Słowikowska) ผู้อำนวยการภาคีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลแห่งสหภาพยุโรป ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านดาราศาสตร์วิทยุ ต่ออายุความร่วมมือเดิมที่เคยลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2019
การลงนามครั้งนี้ นอกจากเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัย และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านดาราศาสตร์วิทยุที่เกี่ยวข้อง และเนื่องด้วยปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดรับข้อเสนอด้านงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลและทดสอบระบบรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ จากนั้นเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาจึงพร้อมเข้าร่วมเครือข่าย VLBI ของสหภาพยุโรปเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ร่วมกันในอนาคต
การลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024
การลงนามในครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Asronomical Observatory: TNRO) ของไทย และ กลุ่มเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุยุโรป (The European VLBI Network: EVN) อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อนำมาสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ร่วมกันอีกมากมายในอนาคต
ที่มารูปภาพและข้อมูล หมายข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ข่าวแนะนำ