TNN ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี

TNN

Tech

ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี

ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี

ยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรกในรอบ 52 ปี นับจากปี ค.ศ. 1972 ในภารกิจอพอลโล-17 (Apollo-17)

เช้าตรู่ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ของสหรัฐอเมริกาลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ นับเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาในรอบ 52 ปี นับจากปี ค.ศ. 1972 ในภารกิจอพอลโล-17 (Apollo-17) และเป็นยานอวกาศจากบริษัทเอกชนลำแรกของโลกที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ


ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ในภารกิจไอเอ็ม-วัน (IM-1) หรือ CLPS-2 เดินทางออกจากโลกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา


หลังจากยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) ใช้เวลาเดินทางไปดวงจันทร์ประมาณ 6 วัน ยานได้ลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณหลุมอุกกาบาตมาลาเพิร์ต เอ (Malapert A) ห่างจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ 300 กิโลเมตร โดยใช้แสงเลเซอร์ในการค้นหาตำแหน่งการลงจอดที่เหมาะสม ก่อนติดเครื่องยนต์เพื่อชะลอความเร็วของยานเพื่อการลงจอดที่นุ่มนวล


ภายหลังการลงจอดยานโอดิสซิอุส (Odysseus) ขาดการติดต่อกับโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 15-30 นาที ก่อนที่ยานจะกลับมาสื่อสารกับสถานีบนโลกเพื่อยืนยันการลงจอดสำเร็จ


ยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) พัฒนาโดยบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) โครงสร้างของยานมีขนาดเท่ากับตู้โทรศัพท์สาธารณะ ความสูง 4.3 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.57 เมตร และมีมวลรวม 675 กิโลกรัม เป็นยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศบนยาน ติดตั้งอุปกรณ์ทดลองจากนาซา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ รวม 12 ชิ้น


ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บนยานอวกาศลำนี้ เช่น ระบบการนำทางดอปเปลอร์ ไลดาร์ (Doppler Lidar), กล้องสเตอริโอสำหรับการศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์, อุปกรณ์สำรวจจากมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา, ดาวเทียมขนาดเล็กจากมหาวิทยาลัยการบินเอ็มบรี-ริดเดิ้ล และอุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นวิทยุที่พื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งนาซาได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์


ยานอวกาศลำนี้ถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจหลังจากลงจอดได้ประมาณ 7-14 วัน หรือจนกว่าที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ณ จุดลงจอด เนื่องจากมันไม่ได้ถูกออกแบบให้มีพลังงานเพียงพอที่จะทำภารกิจในช่วงที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ไม่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์


คาดว่าข้อมูลอันล้ำค่าที่ได้จากภารกิจยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) นาซาจะนำไปใช้เพื่อปูทางไปสู่ภารกิจ Artemis 3 การนำมนุษย์อวกาศไปเหยียบบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2026 และเพื่อการตั้งสถานีสำรวจระยะยาวบนพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคต


สำหรับยานอวกาศโอดิสซิอุส (Odysseus) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคอมเมอร์เชียล ลูนาร์ เพย์โหลด เซอร์วิส (Commercial Lunar Payload Services) หรือ ซีแอลพีเอส (CLPS) ที่นาซาทำร่วมกับบริษัทเอกชน นับเป็นภารกิจที่ 2 ของโครงการนี้หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมายานเพเรกริน (Peregrine) ในภารกิจ CLPS-1 ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ


ที่มาของข้อมูล

Wikipedia.org, CNN, NBC News, Yahoo 

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ