TNN หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ

TNN

Tech

หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ

หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ

ทีมแพทย์จากสหรัฐฯ ทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ขนาดเล็กบนสถานีอวกาศนานาชาติจากระยะไกล ทำการทดลองผ่าตัดบนอวกาศสำเร็จเป็นครั้งแรก

ทีมแพทย์จากรัฐเนบราสกา (Nebraska) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลจากโลกไปยังหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศเพื่อใช้ทดลองผ่าตัดได้สำเร็จ ปูทางไปสู่การใช้ผ่าตัดระยะไกลจากชนบทบนโลก หรือการใช้งานสำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคต


หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ ภาพจาก University of Nebraska-Lincoln

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา-ลินคอล์น (University of Nebraska-Lincoln) และบริษัทเอกชน ผู้พัฒนาแขนหุ่นยนต์สำหรับช่วยผ่าตัด เวอร์ชวล อินซิชัน (Virtual Incision) ได้ร่วมกันพัฒนาและส่งแขนหุ่นยนต์สำหรับช่วยผ่าตัด สเปซมิรา (spaceMIRA) เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยจรวดจากบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) 


ตัวแขนหุ่นยนต์มีความยาว 76 เซนติเมตร และหนักประมาณ 0.9 กิโลกรัม บรรจุอยู่ในกล่องขนาดประมาณเครื่องไมโครเวฟ และมีกล้องติดตั้งในตัว ช่วยให้ทีมแพทย์บนโลกสามารถมองเห็นพื้นที่ผ่าตัดบนอวกาศได้


หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ ภาพจาก University of Nebraska-Lincoln

 

การทดสอบครั้งนี้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เวอร์ชวล อินซิสชัน (Virtual Incision) ในรัฐเนบราสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีทีมจากนาซา (NASA) ร่วมควบคุมภารกิจ โดยการทดสอบจะให้แพทย์จำนวน 6 คน ทดลองควบคุมแขนจากระยะไกลเพื่อทำการหยิบจับและเฉือนหนังยางที่แตกต่างกัน 10 เส้น เสมือนเป็นการผ่าตัดเนื้อเยื่อของมนุษย์ 


ผลการทดสอบพบว่าทีมแพทย์สามารถปฏิบัติภารกิจการผ่าตัดด้วยแขนหุ่นยนต์ระยะไกลได้สำเร็จ โดยพวกเขาพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น การเคลื่อนไหวที่มากเกินไปบนโลก อาจจะทำให้เกิดความหน่วงของการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์บนอวกาศ และต้องใช้เวลาพอสมควรในการส่งผ่านการเคลื่อนไหวของแพทย์ ไปยังแขนหุ่นยนต์ในห้องผ่าตัดบนอวกาศ 


หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ ภาพจาก University of Nebraska-Lincoln

 

อีกทั้งทีมแพทย์ยังต้องระวังไม่ให้แขนหุ่นยนต์ ไปกระแทกกับตัวเครื่องที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่ผ่าตัด เนื่องจากเสี่ยงทำให้แขนหุ่นยนต์หัก และทำให้เศษอาจจะหลุดกระจายเข้าไปในชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดหายนะได้ จึงเป็นสิ่งที่ทีมแพทย์บนโลกต้องปรับตัวหากใช้งานจริง


หมอบนโลกทดสอบควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกลในอวกาศได้สำเร็จ ภาพจาก University of Nebraska-Lincoln

 

อย่างไรก็ตาม ทีมพัฒนามองว่าการทดสอบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ และยังไม่เพียงแต่เป็นก้าวที่ดี สำหรับความเป็นไปได้ของการผ่าตัดในอวกาศเท่านั้น แต่ยังอาจช่วยเรื่องการผ่าตัดในสถานพยาบาลของชนบทที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนทีมแพทย์ได้อีกด้วย


ข้อมูลจาก newatlas

ข่าวแนะนำ