TNN ส่องเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลก | TNN Tech Reports

TNN

Tech

ส่องเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลก | TNN Tech Reports

ส่องเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลก | TNN Tech Reports

ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว มีการพัฒนาและได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะว่าทั้งสร้างความสะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว




ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว มีการพัฒนาและได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะว่าทั้งสร้างความสะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว จากฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างหลากหลาย แต่ถ้าใครยังนึกภาพนวัตกรรมท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่ออก เรื่องราวต่อไปนี้น่าจะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น


รถบ้านไฟฟ้าแปลงร่างเพิ่มพื้นที่


อีทีเอช (eTH)  คือโฉมใหม่ของการออกแบบรถบ้าน จากเอซี ฟิวเจอร์ (AC Future) สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับบริษัทออกแบบชื่อดังสัญชาติอิตาลี พินินฟารินา (Pininfarina)  เป็นรถบ้านที่สามารถกางส่วนขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ 


ตัวรถขณะยังไม่กางออกจะมีความยาวอยู่ที่ 240 นิ้ว และกว้าง 96 นิ้ว น้ำหนักตัวรถอยู่ที่ประมาณ 19,000 ปอนด์ หรือราว 8,600 กิโลกรัม ในขณะที่เมื่อกางออกแล้ว จะเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้านในได้มากถึง 400 ตารางฟุต หรือราว 37 ตารางเมตร โดยมีพื้นที่ใช้งานรองรับห้องนอนพร้อมเตียง,  ห้องนั่งเล่น, ห้องน้ำ, ห้องครัว, และพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์


ในส่วนของห้องคนขับได้รับการออกแบบอย่างเรียบง่าย โดยการควบคุมทุกอย่างของรถจะแสดงผ่านหน้าจอสัมผัสส่วนกลางบนแผงหน้าปัด และยังสามารถพับเก็บพวงมาลัยลงเมื่อไม่ใช้งาน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยหน้ารถได้ด้วย


ด้านพลังงาน บริเวณหลังคารถจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 25 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน และยังมีเครื่องผลิตน้ำ ซึ่งได้รับการออกแบบให้แปลงความชื้นในอากาศเป็นน้ำสะอาดได้มากถึง 13 แกลลอนต่อวัน


อย่างไรก็ตาม รถบ้านคันนี้ยังอยู่ในช่วงการนำเสนอแนวคิดเท่านั้น โดยนำเสนอครั้งแรกในงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก CES 2024 โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2025 


กล้องส่องทางไกลอัจฉริยะ ระบุสายพันธุ์สัตว์ได้ในตัว 


เอเอ็กซ์ วิซิโอ (AX Visio) คือกล้องส่องทางไกลอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากสวารอฟสกี้ ออปติก (Swarovski Optik) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภทกล้องส่องทางไกล จากประเทศออสเตรเลีย ที่สามารถใช้ส่องดูนกและสัตว์ป่าต่าง ๆ พร้อมระบุข้อมูลของสายพันธุ์สัตว์เหล่านั้นบนจอได้แบบเรียลไทม์ 


กล้องตัวนี้เกิดขึ้นจากการผสมผสานการพัฒนาอุปกรณ์ประเภทกล้องส่องของบริษัท เข้ากับระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบกล้องวิดีโอ กล้องภาพถ่ายรุ่นใหม่ และข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับนกระดับโลก คอร์เนียล แล็บ ออฟ ออร์นิโทโลจี (Cornell Lab of Ornithology)


สำหรับการใช้งาน เมื่อผู้ใช้งานส่องกล้องไปยังนกสายพันธุ์ต่าง ๆ ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ในกล้อง ก็จะตรวจจับภาพนกดังกล่าว และนำไปเปรียบเทียบกับคลังข้อมูลสายพันธุ์นก บนแอปพลิเคชัน เมอร์ลิน เบิร์ด ไอดี (Merlin Bird ID) ของหน่วยงานคอร์เนียล เพื่อค้นหาและระบุตัวนก


ซึ่งถ้าเรายิ่งส่องภาพนก ให้เต็มพื้นที่จุดโฟกัสของกล้องได้มากเท่าไหร่ ระบบก็จะระบุสายพันธุ์นกได้ง่ายมากขึ้น และเมื่อระบุตัวนกได้แล้ว ระบบก็จะแสดงชื่อของมันบนหน้าจอ ภายในเลนส์ของกล้องส่องทางไกลให้ทันที โดยจะมีข้อมูลสายพันธุ์นกอยู่มากกว่า 8,000 ชนิด 


แต่ถ้าไม่อยากส่องนก ตัวกล้องก็ยังมีโหมดสำหรับส่องสัตว์อื่น ๆ อยู่ที่ประมาณ 9,000 ชนิดด้วยกัน


สำหรับราคาของกล้องส่องทางไกลอัจฉริยะนี้ อยู่ที่ 4,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 167,000 บาท มาพร้อมกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมเลนส์ 300 มิลลิเมตร ติดตั้งหน่วยประมวลผล รองรับการบันทึกและแบ่งปันภาพที่ได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน  โดยวางจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์  2024


กระจกรถอัจฉริยะบอกข้อมูลสิ่งที่มอง


เทคโนโลยีกระจกอัจฉริยะนี้มีชื่อว่า AR Interactive Vehicle Display หรือเทคโนโลยีจอแสดงผลเชิงโต้ตอบแบบเสมือนจริง หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือจอแสดงผลอัจฉริยะ ผลงานจาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน (Industrial Technology Research Institute: ITRI) ที่มาในรูปแบบกระจกใส ติดตั้งไปกับกระจกรถบัสท่องเที่ยว และให้ข้อมูลสิ่งที่นักท่องเที่ยวมองตามทางได้แบบเรียลไทม์ 


การทำงานของ AR Interactive Vehicle Displa จะอาศัยกล้องติดตามสายตา ที่ติดตั้งอยู่เหนือหน้าต่างของรถบัส และภายในหน้าต่างจะมีแผงหน้าจอสัมผัสแบบ ไมโครแอลอีดี (microLED) แบบโปร่งใส ครอบคลุมพื้นผิวด้านในทั้งหมด


ดังนั้น ในขณะที่ผู้โดยสารมองออกไปนอกหน้าต่าง ระบบจะประเมินทิศทางการมองอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยี GPS เพื่อยืนยันความเร็วปัจจุบันของยานพาหนะ และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ทำให้สามารถบอกได้ว่าผู้โดยสาร กำลังดูสถานที่ท่องเที่ยวใดอยู่


จากนั้น ระบบจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อแสดงภาพถ่ายเล็ก ๆ ของสถานที่ท่องเที่ยว บนแผงไมโครแอลอีดี (microLED)  ซึ่งจะปรากฏข้างมุมมองของผู้โดยสารต่อสถานที่จริง หากพวกเขาต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังดูอยู่ ก็เพียงแค่แตะรูปภาพนั้น ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะปรากฏในกล่องข้อความ ที่อยู่รอบมุมมองของสถานที่ท่องเที่ยวทันที


ทางผู้พัฒนาระบุว่า ด้วยนวัตกรรมนี้ นักท่องเที่ยวก็จะไม่ต้องละสายตาจากการมองวิวสถานที่ต่าง ๆ เพื่อมาหาข้อมูลที่อยากรู้บนโทรศัพท์มือถือ ทำให้สัมผัสบรรยากาศรอบข้างได้อย่างเต็มที่


อีกทั้งยังสามารถนำไปติดตั้งเข้ากับหน้าต่างรถไฟ เรือท่องเที่ยว ยานพาหนะท่องเที่ยวอื่น ๆ หรือเอาไปใช้งานกับกระจกของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสาธารณะ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปลาที่กำลังดูอยู่ได้เช่นกัน


ข่าวแนะนำ