ญี่ปุ่นพัฒนา “หุ่นยนต์กินได้” เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์
ญี่ปุ่นพัฒนา “หุ่นยนต์กินได้” เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานหุ่นยนต์กินได้ทั้งในแวดวงการแพทย์และการทำอาหาร พร้อมทั้งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่สามารถรับประทานเข้าไปได้ เพื่อศึกษาการตอบสนองทางอารมณ์ของมนุษย์ขณะรับประทานอาหารที่ขยับไปมา โดยหวังว่าจะต่อยอดไปสู่การผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ากับศิลปะการทำอาหาร และการประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ในอนาคต
โดยปกติแล้วในประเทศญี่ปุ่น จะมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่เรียกว่า โอโดริกุอิ (Odorigui - 踊り食い) ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารทะเลแบบเป็น ๆ เช่น ปลาหมึก
ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจจิตวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ขยับได้นี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย อิเล็กโตร-คอมมูนิเคชัน (University of Electro-Communications) และมหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) จึงได้พัฒนา “หุ่นยนต์” ขับเคลื่อนด้วยปั๊มลมขนาดเล็ก โดยส่วนที่รับประทานได้จะทำมาจากการผสมเจลาติน น้ำตาล และน้ำแอปเปิล เพื่อเพิ่มรสชาติ
จากนั้น นักวิจัยจะเทส่วนผสมลงในแม่พิมพ์ที่มีรูกลวง 2 รู และทิ้งให้แข็งตัว จะได้ออกมาเป็นแผ่นเจลาติน นำไปติดเข้ากับชิ้นส่วนปั๊มลมของหุ่นยนต์ ที่มีลักษณะคล้ายแก้วกาแฟ โดยการปล่อยลมสลับเข้าไปในแต่ละรูของเจลาติน จะให้การเคลื่อนไหวแบบขยับซ้ายขวา ส่วนการเป่าลมพร้อมกันทั้งสองรู จะให้การเคลื่อนไหวแบบกระเพื่อม หรือเต้นเป็นจังหวะ
เมื่อถึงเวลาทดสอบ นักวิจัยจะให้กลุ่มทดสอบ ซึ่งเป็นนักศึกษา 16 คนจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกจะต้องหยิบอุปกรณ์ที่ติดตั้งหุ่นยนต์เจลาติน ซึ่งกำลังเต้นไปมาตามจังหวะการปล่อยลมที่กำหนดไว้ แล้วนำส่วนที่สามารถรับประทานได้เข้าปาก จากนั้นปล่อยให้มันเคลื่อนไหวอยู่ในปาก 10 วินาที แล้วค่อยเคี้ยว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง จะได้รับประทานเจลาตินแบบปกติ ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว หลังการรับประทาน นักศึกษาแต่ละคนจะได้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งมีคำถามต่าง ๆ เช่น คิดว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปมีชีวิตหรือไม่? หรือ รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่พึ่งรับประทานเข้าไป เป็นต้น
โดยผลการทดสอบพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ รู้สึกว่าการรับประทานอาหารที่ดิ้นได้นี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกับอาหารยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงรู้สึกผิดเล็ก ๆ ที่เหมือนกับกำลังรับประทานอาหารที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าไป
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร พีลอส วัน (PLOS One) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยหวังว่า การวิจัยดังกล่าว อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบทางด้านจริยธรรม ของการรับประทานอาหาร ตลอดจนการใช้งานด้านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ หรือการต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์อาหารแปลกใหม่ในอนาคต
ภาพจาก Osaka University จาก Journals.plos.org
ข้อมูลจาก popsci, journals.plos.org, interestingengineering
ข่าวแนะนำ