นักเรียนฮ่องกงทำลายสถิติโลก สร้างหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เล็กสุดในโลกสำเร็จ
ทีมนักเรียนจากโรงเรียน Diocesan Boys' School ในฮ่องกง ประสบความสำเร็จสร้างหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีความสูงเพียง 141 มิลลิเมตร ได้รับการรองรับโดย Guinness World Records
ทีมนักเรียนจากโรงเรียนไดออสซิซันบอย (Diocesan Boys' School) ในฮ่องกง ประสบความสำเร็จด้านวิศวกรรม สามารถสร้างหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์รูปร่างเหมือนมนุษย์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ได้รับการรองรับโดยบันทึกสถิติโลกจากกินเนสส์ (Guinness World Records) หุ่นยนต์ตัวนี้มีความสูงเพียง 141 มิลลิเมตร หรือก็คือขนาดพอ ๆ กับความยาวของปากกาลูกลื่นเท่านั้น ส่วนสถิติเดิมที่เพิ่งถูกทำลายลงเป็นหุ่นยนต์ของเซน อาหมัด กูเรชี (Zain Ahmad Qureshi) จากประเทศปากีสถาน ที่หุ่นยนต์มีความสูง 152.3 มิลลิเมตร
ทีมผู้พัฒนาประกอบด้วย อารอน โฮ ยัต ฟุง (Aaron Ho Yat Fung) ไอแซค แซคารี โท (Isaac Zachary To) จัสติน หวัง โถวดอง (Justin Wang Tou Duong) และ โง เฮ เหลียง (Ngo Hei Leung) พวกเขาได้ออกแบบหุ่นยนต์โดยคอมพิวเตอร์ (computer-aided design : CAD) จากนั้นก็ได้สั่งโรงงานเพื่อผลิตเซอร์โวมอเตอร์ (Servo motors) ตามความต้องการของพวกเขา
สำหรับเซอร์โวมอเตอร์ บางครั้งอาจเรียกว่าเซอร์โวเฉย ๆ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมุนและดันชิ้นส่วนของเครื่องจักรด้วยความแม่นยำ ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถขยับขาและแขนได้ เซอร์โวเหล่านี้ถูกตั้งโปรแกรมและควบคุมด้วยบอร์ดควบคุมเซอร์โว 16 ช่องที่ซื้อมา จากนั้นทีมพัฒนาได้สร้างแผงอะคริลิกของหุ่นยนต์และส่วนประกอบที่พิมพ์แบบ 3 มิติ ในห้องแล็ปหุ่นยนต์ของโรงเรียน เมื่อรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ครบแล้ว พวกเขาก็เริ่มประกอบร่างหุ่นยนต์ ส่วนพลังงานที่ขับเคลื่อนตัวหุ่นยนต์เป็นหน้าที่ของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 7.4 โวลต์ เพื่อให้มีขนาดเบาจนหุ่นยนต์ตัวเล็กสามารถบรรทุกได้ หุ่นยนต์ตัวนี้ควบคุมผ่านปุ่มบนตัวหุ่นยนต์ และสามารถควบคุมผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนได้
นอกจากการทำลายสถิติโลกแล้ว ทีมผู้พัฒนายังตั้งเป้าที่จะให้หุ่นยนต์ตัวนี้เป็น “หุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ ชาร์จใหม่ได้ และตั้งโปรแกรมได้” เพื่อใช้ในการเวิร์กช็อปด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ หรือ STEAM (science, technology, engineering, the arts, and mathematics) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือคนขาดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา
นอกเหนือเป้าหมายทางการศึกษาแล้ว ทีมงานยังตั้งใจที่จะสร้างโค้ดการออกแบบและการเขียนโปรแกรมของหุ่นยนต์ให้เป็นโอเพ่นซอร์ส เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อได้อย่างอิสระด้วย
การทำลายสถิติโลกครั้งนี้ ได้รับเลือกเพื่อทำเป็นซีรีส์ชุดเรคคอร์ด วีกลี่ (Records Weekly) ออกฉายในช่องยูทูบของบันทึกสถิติโลกจากกินเนสส์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2024
ที่มาข้อมูล GuinnessWorldRecords, InterestingEngineering
ที่มารูปภาพ GuinnessWorldRecords
ข่าวแนะนำ