TNN ใกล้หมดยุคสถานีอวกาศนานาชาติ ISS แล้ว เตรียมพบกับ Starlab ปี 2027 นี้

TNN

Tech

ใกล้หมดยุคสถานีอวกาศนานาชาติ ISS แล้ว เตรียมพบกับ Starlab ปี 2027 นี้

ใกล้หมดยุคสถานีอวกาศนานาชาติ ISS แล้ว เตรียมพบกับ Starlab ปี 2027 นี้

สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS จะปิดตัวลงในปี 2030 นี้ จึงมีภาคเอกชนเตรียมพัฒนาสถานีวอวกาศแบบใหม่ที่ทันสมัยและสวยงามภายใต้ชื่อโครงการว่า Starlab

ปัจจุบัน การพัฒนาอวกาศนั้นหันมาอยู่ในรูปแบบการแข่งขันเชิงพาณิชย์มากขึ้น ตั้งแต่การสร้างดาวเทียม การสร้างจรวดขนส่งอวกาศที่สามารถใช้งานซ้ำได้ และล่าสุด ได้มีแผนการพัฒนาสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์เพื่อทดแทนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส (International Space Station: ISS) ซึ่งยุติการใช้งานในปี 2030 นี้


สถานีอวกาศดังกล่าวเรียกว่า สตาร์แลป (Starlab) เป็นสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ที่ โวยาเจอร์ สเปซ (Voyager Space) สตาร์ตอัปด้านอวกาศสัญชาติอเมริกัน พัฒนาขึ้นมาร่วมกับพันธมิตรจากแอร์บัส (Airbus) และองค์กรอื่น ๆ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (ESA) 


Starlab มีรูปร่างเป็นยานทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 8 เมตร และสูง 8 เมตร พร้อมปลายเชื่อมต่อเทียบท่ายานอวกาศ (Docking Node) ในขณะที่ตัวสถานีจะมีแขนกล (Robotic Arm) ยื่นออกมา ซึ่งสามารถปรับตำแหน่งให้เข้ากับสัมภาระ (Payload) ที่ส่งขึ้นมาเป็นปลายยึดติดด้วยอากาศ (Payload Airlock) 


ว่าที่สถานีอวกาศใหม่นี้ ยังรองรับการติดตั้ง Payload ที่เป็นลักษณะส่วนเสริม (Hosted Payload) บนบริเวณที่เรียกว่า เพย์โหลด โฮสติ้ง (Payload hosting) ซึ่งสามารถนำเซนเซอร์หรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาฝากติดกับตัวสถานีเพื่อเข้าถึงระบบไฟฟ้า ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ กับตัวสถานีได้


ในขณะที่ภายในของ Starlab ได้ร่วมมือกับเครือโรงแรมฮิลตัน (Hilton) เพื่อช่วยออกแบบส่วนพื้นที่ทำงานและอยู่อาศัย ซึ่ง Starlab จะแบ่งออกเป็น 3 ชั้น มีห้องทั้งควบคุมและห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทดลองทางชีววิทยา ฟิสิกส์ การปลูกพืช วัสดุศาสตร์ และพื้นที่เปิดสำหรับออกแบบการทดลองบนอวกาศได้


ทั้งนี้ Starlab มีแผนส่งขึ้นไปที่ระดับวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ภายในปี 2027 ก่อนที่ ISS จะปิดตัวลง ซึ่งทางบริษัทได้ตัดสินใจเลือกส่ง Starship ขึ้นไปด้วยยานสตาร์ชิป (Starship) ของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ซึ่งเป็นการส่งขึ้นไปเพียงครั้งเดียว (Single launch) ไม่ต้องมีการไปประกอบ (Assembly) กลางอวกาศแบบที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) หรือสถานีอวกาศอื่น ๆ เคยทำในอดีต 


ข้อมูลจาก New Atlas, Starlab

ภาพจาก Starlab


ข่าวแนะนำ