โหดจัดรัสเซีย ! ดินแดนหมีขาวติดตั้งมิสไซล์บนโดรน
บัญชี X ของผู้ใช้ Rob Lee เปิดเผยวิดีโอ รัสเซียทดสอบการทำงานของโดรนติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีที่ชื่อ 9M111 Fagot ซึ่งเป็นขีปนาวุธที่มีมาตั้งแต่ยุคโซเวียต
โดยปกติขีปนาวุธมักจะติดตั้งบนรถ หรือฐานที่มั่นคง แต่ล่าสุดมีวิดีโอ เผยให้เห็นว่า รัสเซียติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธต่อต้านรถถัง หรือ ATGM (Anti-Tank Guided-Missile) บนอากาศยานโดรนได้แล้ว
แม้ว่าจะมีการเผยภาพออกมา แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธที่ติดตั้งอยู่บนโดรนอย่างแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน่าจะเป็นขีปนาวุธรุ่นเก่าที่มีมาตั้งแต่ยุคโซเวียต ชื่อไนน์เอ็มวันฮันเดรดอีเลฟเว่น ฟาก็อต (9M111 Fagot) หรือเรียกอีกอย่างว่าบาสซูน (Bassoon) ซึ่งเป็นขีปนาวุธนำทางด้วยสายนำสัญญาณ หากเป็นรุ่นนั้นจริง มันมีน้ำหนักประมาณ 12.7 กิโลกรัม ส่วนเครื่องยิงจรวด คาดว่าน่าจะเป็นรุ่นเอที-4 สไปก็อต (AT-4 Spigot) จากนาโต้
ส่วนตัวโดรน เป็นโดรนคอปเตอร์จู่โจมหนักที่มีความแข็งแกร่ง น่าจะมีพื้นฐานมาจากโดรนฉีดพ่นทางการเกษตรสัญชาติจีนรุ่นอีเอฟที แซดฟิฟตี้ (EFT Z50) ซึ่งโดรนตัวนี้มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 50 กิโลกรัม ถ้าบรรทุกวัตถุด้วยน้ำหนักเต็มความจุ มันจะบินกลางอากาศได้นาน 7 นาที แต่หากไม่ได้บรรทุกวัตถุ จะสามารถบินได้ 20 นาที โดรนนี้ควบคุมด้วยรีโมทได้จากระยะไกลสูงสุดประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบันมีราคาประมาณ 7,000 - 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250,000 - 350,000 บาท
แต่ทั้งนี้ตัวโดรนติดอาวุธนี้ก็ยังมีจุดที่ต้องพิจารณาอยู่บ้าง คือ ปกติแล้วขีปนาวุธบาสซูนจะทำงานโดยระบบกึ่งอัตโนมัติ คือยังมีมนุษย์คอยควบคุมนำทางด้วยสายลวดที่เชื่อมต่อกับขีปนาวุธ แต่โดรนตัวนี้ไม่มีผู้ควบคุมโดยตรง ดังนั้นมันจึงไม่มีการควบคุมทิศทาง และมีแนวโน้มว่าจะสามารถใช้โจมตีเป้าหมายได้ในระยะที่ใกล้มาก ๆ เท่านั้น
สำหรับเป้าหมายที่ว่าโดรนนี้มีไว้เพื่อประโยชน์อะไรนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงตั้งข้อสงสัยอยู่ หากมีไว้เพื่อยิงในระยะใกล้ ๆ โดยที่ไม่ได้คาดหวังความแม่นยำเท่าไหร่นัก โดรนนี้ก็อาจจะมีประโยชน์ แต่ไม่แน่ว่าในอนาคต มันก็อาจจะมีวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องการนำทางขีปนาวุธ และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็อาจจะกลายเป็นเครื่องจักรสังหารที่มีประโยชน์ในทางการทหาร
Russian channels shared a video of the Perun-F UAV equipped with a Fagot ATGM. https://t.co/O1qpQYWcG4https://t.co/cCrtVS3Nlh pic.twitter.com/vcmEC8kXFT
— Rob Lee (@RALee85) January 25, 2024
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, X's Rob Lee
ที่มารูปภาพ X's Rob Lee
ข่าวแนะนำ