ลองยัง ! Nimbo Earth Online คู่แข่ง Google Earth เด่นที่อัปเดตข้อมูลใหม่ทุกเดือน
แพลตฟอร์ม Nimbo Earth Online ให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมคล้าย Google Earth เด่นที่จะอัพเดตข้อมูลใหม่ทุกเดือน และจะไม่มีพื้นที่ไหนที่มีเมฆบัง ทำให้สามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบนโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติฝรั่งเศสเคอร์แมป (Kermap) ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเหมือน “แฝดดิจิทัลของโลก” บริษัทอ้างว่าให้ข้อมูลที่ใหม่ล่าสุดในการดูภาพถ่ายจากดาวเทียมของโลก
แพลตฟอร์มนี้เรียกว่า นิมโบ เอิร์ท ออนไลน์ (Nimbo Earth Online) เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ไม่มีเมฆบังและอัปเดตข้อมูลใหม่ทุกเดือน ในขณะที่แพลตฟอร์มที่ให้บริการใกล้เคียงกันอย่างกูเกิลเอิร์ท (Google Earth) จะอัปเดตข้อมูลใหม่ในระยะเวลาหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีแล้วแต่สถานที่ สำหรับข้อมูลที่นิมโบจะนำมาใช้อัปเดตข้อมูลจะมาจากดาวเทียมขององค์การอวกาศแห่งยุโรป อย่าง เซนติเนล 1 และเซนติเนล 2 สามารถดูภาพได้ทั้งแบบ 2 และ 3 มิติ
การทำงานของนิมโบจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาร่วมด้วย คือมันจะใช้เทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกหรือดีปเลิร์นนิง (Deep-Learning Techniques) มาเพื่อตรวจดูว่าพื้นที่ไหนมีเมฆบัง จากนั้นจะค้นหาภาพล่าสุดที่ไม่มีเมฆบังมาแทน
นิมโบมีชั้นข้อมูล 4 ชั้น คือ ชั้นธรรมชาติ ชั้นอินฟาเรด ชั้น NDVI สำหรับวัดปริมาณความอุดมสมบูรณ์หรือความหนาแน่นของพืช และชั้นเรดาร์ที่มีประโยชน์หลายอย่างเช่น ติดตามเส้นทางเดินเรือ ติดตามชีวิตสัตว์ป่า และทำแผนที่โลกในเวลากลางคืน
แต่บริษัทผู้พัฒนาบอกว่า ความโดดเด่นที่แท้จริงของนิมโบ คือมันจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในระยะเดือนต่อเดือน ซึ่งนั่นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากทั้งต่อนักวิทยาศาสตร์ นักข่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และทุกคนที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้มันยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น ฟีเจอร์ปัดซ้ายขวาเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของสถานที่เดียวกันแต่ต่างช่วงเวลาในรูปเดียว หรือ ฟีเจอร์ไทม์แลปส์เพื่อดูว่าสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างเมื่อเวลาผ่านไป
แต่ทั้งนี้มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือให้ความละเอียดเพียง 10 เมตรต่อพิกเซล ส่วนกูเกิลเอิร์ทให้ความละเอียดในช่วง 0.15 เมตร - 15 เมตรต่อพิกเซล ซึ่งยิ่งความยาวต่อพิกเซลมีค่าน้อย ก็แสดงว่าภาพมีความละเอียดสูง ดังนั้นเมื่อเทียบระหว่างนิมโบและกูเกิลเอิร์ท ก็แปลว่ากูเกิลเอิร์ทให้ความละเอียดที่สูงกว่า
ข้อเสียอีกอย่างคือภาพถ่ายดาวเทียมสามารถใช้งานได้เริ่มตั้งแต่ปี 2019 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการจำกัดการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ในระยะยาว แต่ในอนาคตบริษัทอาจมีการอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับผู้ที่สนใจทดลองใช้งาน สามารถสร้างบัญชีและทดลองใช้งานได้ฟรีที่ https://nimbo.earth/products/earth-online/ โดยเราสามารถส่งออกข้อมูลมายังคอมพิวเตอร์ของเราได้ฟรี แต่อย่างไรก็ตาม นิมโบมีการจำกัดการใช้งานต่อเดือน หลังจากนั้นต้องมีการชำระเงินเพื่อใช้บริการต่อ
เคอร์แมป กล่าวว่า ในขณะที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึงถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งในการวัด คาดการณ์ ปรับตัว และแก้ไขปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศ
ที่มาข้อมูล Nimbo, Thenextweb
ที่มารูปภาพ Nimbo
ข่าวแนะนำ