TNN รวมนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่น่าสนใจในปี 2023 | TNN Tech Reports

TNN

Tech

รวมนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่น่าสนใจในปี 2023 | TNN Tech Reports

รวมนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่น่าสนใจในปี 2023  | TNN Tech Reports

บทความนี้มีเรื่องราวนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยมาฝากกัน ซึ่งแต่ละผลงานได้นำเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยียอดฮิตแห่งยุคมาประยุกต์ใช้




ถ้าจะยกให้ปี 2023 เป็นปีทองของ AI ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะมองไปวงการไหน ต่างก็มีนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้กันมากมาย เช่น ด้านใกล้ตัวเราอย่างสุขภาพ และวงการแพทย์ ที่มีการใช้เอไอช่วยแพทย์วินิจฉัย ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งใช้ในการดูแลพื้นที่ป่าไม้ การนำ Machine Learning หนึ่งใน AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในโรงงาน


รวมถึงข่าวการเปิดตัว ChatGPT  แพลตฟอร์มสนทนา AI โดยบริษัทวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก OpenAI ซึ่งถือเป็นการสร้างสรรค์ AI ด้านการสื่อสาร ที่สั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้


เราจึงได้รวบรวมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI จากฝีมือคนไทยที่น่าสนใจ ซึ่งออกอากาศในรายการ TNN Tech Reports Weekly ในปี 2023 มาให้ได้อ่านกันในรูปแบบของบทความนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการคิดค้น พัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับประเทศต่อไป


วาวา AI ศิลปินเสมือนไทย


หนึ่งในความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมบันเทิงและโฆษณาไทย คือ วาวา ซึ่งเป็น Virtual Artist หรือศิลปินเสมือนจริง ผลงานการพัฒนาที่ผสมผสานการทำงานจาก AI โดย T Town Digital Studio ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งวาวา ได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปลักษณ์ของสาววัย 21 ปี กับภาพลักษณ์ที่ดูน่ารัก สดใส และขี้เล่น ซึ่งมาพร้อมความสามารถทั้งโพสต์ท่า ร้องเพลง และการเต้น  


โดยวาวา ถือเป็นผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนจริง ๆ ที่จะถูกนำมาเป็นต้นแบบ บวกกับเทคโนโลยีการสร้าง Persona หรือ แบบจำลองหน้าตาบุคคลให้โดดเด่น ไปจนถึงการสร้างบุคลิกหรือคาร์แร็กเตอร์ และเรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ 


เบื้องหลังการสร้างวาวา


เบื้องหลังการสร้างวาวา เกิดจากการใช้การทำงานร่วมกันหลายส่วน  ส่วนแรกคือการทำเพลง จะคล้ายกับกระบวนการทำเพลงดั้งเดิม คือ มีคนแต่งเพลง และใช้เสียงร้องของบุคคลต้นแบบ


ส่วนที่สองคือการทำคอนเทนต์ภาพหรือคลิป ส่วนนี้จะมีการเลือกใช้เทคโนโลยีอยู่ 3 ส่วนคือ

  1. AI deepfake โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างแบบจำลองหน้าตา ซึ่งแตกต่างจากที่ใช้กันในแอปพลิเคชันทั่วไป เนื่องจากเป็นการถ่ายทำที่มีคุณภาพสูงในระดับเดียวกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด

  2. ระบบสแกนถ่ายภาพแบบสามมิติ หรือ Photogrammetry คือ กระบวนการเปลี่ยนภาพ 2 มิติ จากกล้องถ่ายรูปจำนวนมากกว่า 100 ตัว ให้เป็นโมเดล 3 มิติ ผ่านการประมวลผลของ AI

  3. Motion capture หรือ เทคนิคการสร้างตัวละครแอนิเมชันให้สมจริง โดยการใช้คนต้นแบบมาใส่ ชุด Body Suit ที่ติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่ตัว เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว


บอทน้อย AI ไทย


อีกหนึ่งผู้ประกอบการไทยที่มองเห็นความสำคัญของ AI และกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดก็คือ บอทน้อย โดยมีหลากหลายโซลูชั่น AI ที่ตอบโจทย์กับทั้งคนทั่วไปและกลุ่มธุรกิจองค์กร  


ไม่ว่าจะเป็น  บอทน้อยแชตบอท หรือระบบตอบข้อความอัตโนมัติ ซึ่งใช้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ 

 ระบบเสียงโต้ตอบอัตโนมัติ Voice bot ซึ่งใช้ช่วยงาน Call Center มนุษย์เสมือนหรือ Digital Human ซึ่งตอบโจทย์การช่วยงานได้หลากหลาย เช่น ใช้งานในโรงพยาบาล หรือให้ข้อมูลต่าง ๆ กับพนักงานภายในองค์กร


และบริการเด่น ที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ฟรี คือ Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI ซึ่งมีจุดเด่นคือ สร้างเสียงได้รวดเร็ว จากทุกที่ทุกเวลา ได้เสียงที่คล้ายกับคน และไม่ต้องใช้อุปกรณ์  เหมาะสำหรับการทำงานได้หลายรูปแบบ เช่น เสียงพากย์ในคลิปวิดีโอ หนังสือเสียง หรืองานบริการลูกค้า


โดย Botnoi voice ถือเป็นเทคโนโลยีสร้างเสียงจาก AI เจ้าแรก ๆ ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมี AI ในรูปแบบของผู้ประกาศข่าว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวการพัฒนาที่สำคัญของ บอทน้อย และแวดวงเทคโนโลยีการสื่อสารของไทย


โดยในแต่ละภาษาจะใช้ความสามารถของ AI ทั้งหมด 4 ตัว คือ AI ตัวที่ 1 จะใช้สกัดเสียงภาษาไทยออกมาเป็นข้อความ ตัวที่ 2 ทำหน้าที่เปลี่ยนข้อความภาษาไทยให้เป็นข้อความภาษาอื่น ตัวที่ 3 เปลี่ยนข้อความภาษาอื่นให้กลายเป็นเสียง และ AI ตัวที่ 4 ทำหน้าที่ในการขยับใบหน้าช่วงปาก ตามการออกเสียงแต่ละภาษาให้ดูเป็นธรรมชาติ 


MuvMi รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า


มาต่อที่เทคโนโลยีด้านการเดินทาง กับ มูฟมี บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าโดยสาร  ผลงานจากสตาร์ตอัปไทย ชื่อว่า Urban Mobility Tech หรือ UMT  ที่ตั้งเป้าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหารถติด โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล 


ด้วยวิธีการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันและจ่ายผ่านการสแกน QR Code  ที่สำคัญคือใช้ระบบ Sharing ซึ่งสามารถเดินทางร่วมกันได้เมื่อไปในเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนนและลดค่าใช้จ่าย 


สำหรับการพัฒนาบริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าโดยสาร มูฟมี จะใช้หลักการที่เรียกว่า Rideharing หรือทางเดียวกันไปด้วยกัน ผ่านการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อให้การคำนวณเส้นทางและการจับคู่ผู้ใช้งานกับตัวรถแต่ละคันมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงประหยัดค่าเดินทางมากที่สุด โดยคิดใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 10 บาท 


โดยการทำงานของแพลตฟอร์มมูฟมี จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ที่เชื่อมโยงกัน คือ

 

  • ส่วนที่ 1 ตัวแอปพลิเคชัน เป็นช่องทางให้คนเข้ามาใช้งาน ผ่านสมาร์ตโฟน

  • ส่วนที่ 2 คือ ระบบ Sharing หรือระบบคำนวณด้วย AI ที่ใช้ในการคัดเลือกผู้โดยสารที่จะไปในเส้นทางเดียวกัน และจับคู่ตัวรถกับผู้โดยสาร 

  • ส่วนที่ 3 ตัวรถตุ๊กตุ๊กและอุปกรณ์ IoT เช่น หน้าจอแสดงข้อมูลเส้นทาง BCU หรือ Building Controller Unit อุปกรณ์ที่ระบุข้อมูลต่าง ๆ ของรถ ทั้งจุดที่อยู่ จำนวนคนนั่ง ข้อมูลแบตเตอรี่ ส่งเข้ามาที่ระบบเก็บข้อมูลส่วนกลาง Cloud 


ขณะที่ตัวรถตุ๊กตุ๊กถูกออกแบบเฉพาะให้มีความปลอดภัยสำหรับการวิ่งในเมือง รองรับผู้โดยสารสูงสุด 6 คน 

ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ลดเสียงรบกวนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งใช้เวลาชาร์จ 30 นาที จาก 0-80% หากชาร์จเต็มที่จะวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 100 กิโลเมตร จำกัดความเร็วในการวิ่งอยู่ที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  


ปัจจุบัน มูฟมี มีจำนวนรถตุ๊กตุ๊กให้บริการอยู่ 350 คัน มีผู้เดินทางมากกว่า 3 ล้านเที่ยว หลังจากก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 5 ปี 



ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ