20 อันดับแอปไทย ยอดดาวน์โหลดสูงสุด นับตั้งแต่ App Store และ Play Store เปิดใช้งาน
เผย 20 อันดับแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยองค์กรไทยที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด นับตั้งแต่ App Store และ Play Store เปิดให้ใช้งาน พบ TrueMonet โดย ทรู คอร์ปอเรชัน ครองแชมป์
เผยผลการจัดอันดับข้อมูลท็อป 20 แอปที่พัฒนาโดยองค์กรไทยที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด นับตั้งแต่เปิด App Store และ Play Store จนถึงปัจจุบัน
แอปบริการทางการเงินครองแชมป์
จากรายชื่อแอปพลิเคชันมือถือที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด 20 อันดับของไทย พบว่ามีแอปพลิเคชันในภาคบริการทางการเงินถึง 9 แอปจากธนาคาร 7 แห่ง โดยมี 2 แอปที่ให้บริการโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคาร
แม้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ในหมวดนี้จะเป็นแอปที่ให้บริการโดยธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุด คือแอป TrueMoney ให้บริการโดย ทรู คอร์ปอเรชัน ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากฟินเทคและโซลูชันทางการเงินแบบฝังตัว (embedded finance solutions) ที่ช่วยทั้งขยายขีดความสามารถ และยกระดับบริการของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
TrueMoney (ชื่อเดิม Wallet by TrueMoney) เปิดตัวในปี 2556 ในฐานะผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอด ให้เป็นแอปพลิเคชันอเนกประสงค์ในชีวิตประจำวัน มีฟีเจอร์อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการชำระเงินแบบเดิม ทั้งบริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภค การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การออมและการลงทุน รวมถึงการโอนเงินแบบ peer-to-peer นอกจากนี้แล้วแอป TrueMoney ยังมีแคมเปญที่ช่วยดึงดูดและรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ให้สามารถสะสมคะแนนเพื่อใช้แลกเป็นส่วนลดและของรางวัลต่าง ๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้แล้วในกลุ่มแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด 5 อันดับแรก ยังประกอบไปด้วยแอปจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ได้แก่ K PLUS จากธนาคารกสิกรไทย Krungthai NEXT จากธนาคารกรุงไทย และ SCB EASY จากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ยังคงรั้งตำแหน่ง 5 อันดับแรกอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันเหล่านี้ได้แตกบริการใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากบริการหลัก เช่น ประกัน สินเชื่อ และโปรแกรมสะสมแต้ม
การพัฒนาและปรับตัวของแอปพลิเคชันเหล่านี้ เป็นการยืนยันว่า การที่แอปพลิเคชันจะครองใจผู้ใช้งานและประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องนั้นจะต้องมีการปรับจากแอปที่ให้บริการผลิตภัณฑ์หลักเพียงอย่างเดียว สู่การให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน เอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และสามารถที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่าอย่างแท้จริง
บริการฟู้ดเดลิเวอรีและร้านสะดวกซื้อครองตำแหน่งสูงถึง 2 ตำแหน่ง
ในส่วนของบริการฟู้ดเดลิเวอรี ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มีถึง 2 แอปดังที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของการจัดอันดับ ที่น่าจับตามองคือ 7-Eleven เติบโตแบบก้าวกระโดดโดยครองอันดับที่ 5 ของรายการ เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 15 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ภาพรวมของวงการฟู้ดเดลิเวอรีในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ในตลาดได้ปรับกลยุทธ์จากการเป็นเพียงสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมผู้บริโภคกับร้านอาหารหากัน ไปสู่บริการที่เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร และในฝั่งของผู้บริโภคด้วย เร็ว ๆ นี้ ยังพบว่ามีการจับมือกันของผู้ให้บริการข้ามแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อสร้างโซลูชันใหม่ ๆ ที่ผนวกเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในวงการร้านอาหาร ผสานประสบการณ์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์อย่างลงตัว
แอปหมวดความบันเทิงและบริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top หรือ OTT) ครองใจผู้ใช้
ในหมวดความบันเทิงและสตรีมมิ่ง OTT มีแอปพลิเคชันติดอันดับท็อป 20 ถึง 6 แอป ทั้ง TRUE ID, AIS Play, Ch7HD, Major Cineplex, BUGABOO.TV และ CH3 Plus โดยมีแอปพลิเคชันที่ให้บริการโดยสถานีโทรทัศน์ถึง 3 แอป โดยแอป Ch7HD และ BUGABOO.TV นั้นเป็นของช่อง 7 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้ชมในปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่
แม้บริการสตรีมวิดีโอแบบออนดีมานด์ (on-demand video streaming) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชัน Major Cineplex ยังคงติดอันดับท็อป 20 แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการสตรีมบนมือถือและหน้าจอทีวีเป็นจำนวนมาก แต่โรงภาพยนตร์ยังคงเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคชาวไทยไปสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่สามารถทดแทนได้ที่บ้าน
ค่ายมือถือชั้นนำติดอันดับทั้งหมด
ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ราย คือ ทรู เอไอเอส และดีแทค ก็ติดอันดับเช่นกัน ในอดีตผู้ใช้บริการมักติดภาพแอปพลิเคชันเหล่านี้ว่าเป็นบริการสาธารณูปโภคทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการได้พัฒนาแอปให้มีฟังก์ชันที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ใช้เพื่อชำระค่าบริการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีทั้งสื่อบันเทิงและโปรโมชันสะสมแต้มที่ช่วยดึงดูดผู้ใช้งาน และช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างลูกค้าและแบรนด์
สถิติท็อปดาวน์โหลดเป็นข้อมูลรวบรวมจาก App Store ระหว่างเดือน กรกฎาคม 2551 - ธันวาคม 2566 และ Play Store ในช่วงเดือนมีนาคม 2555 - ธันวาคม 2566 โดยบริษัทแอ๊พซินท์ (Appsynth) หนึ่งในที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและผู้เชี่ยวชาญด้านแอปบนสมาร์ตโฟนของไทย ร่วมกับ data.ai แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลมือถือ
App Store เปิดตัวในปี 2551 ด้วยแอปพลิเคชันบนสโตร์ 500 แอปพลิเคชัน ล่าสุดในปี 2566 มีแอปบนสโตร์มากกว่า 1.96 ล้านแอปพลิเคชัน ส่วนแอนดรอยด์มีแอปพลิเคชัน 3.7 ล้านแอปบน Google Play ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าผู้ใช้งานมากถึง 25% ตัดสินใจเลิกใช้งานแอปหลังจากการใช้งานครั้งแรก แบรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังคิดจะสร้างแอป หรือวางแผนอนาคตสำหรับแอปขององค์กร จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติเด่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
ที่มาข้อมูล Appsynth
ข่าวแนะนำ