ไม่เหมือนตรงไหนเอาปากกามาวง หุ่นยนต์ไดโนเสาร์โชว์เทคนิคล่าเหยื่อ
นักวิจัยเกาหลีใต้ สร้างหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อวิจัยว่า ไดโนเสาร์บางชนิดอาจมีปีกเพื่อช่วยในการล่าเหยื่อ ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาให้สามารถบินได้
นักบรรพชีวินวิทยาพบหลักฐานว่าไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์มีขน เช่น เวโลซิแรปเตอร์ (Velociraptor) โดยส่วนมากแล้วขนที่พบในไดโนเสาร์จะอยู่ในรูปแบบขั้นต้นของวิวัฒนาการ จึงไม่ได้ช่วยให้บินได้ อย่างมากคือช่วยให้สามารถกระโดดได้ไกลขึ้นเท่านั้น แต่มีสัตว์ในสาขา (Clade) เพนนาแรปโทรา (Pennaraptora) ที่มีขนนกแบบเพนนาเชียส (Pennaceous Feathers) เป็นโครงสร้างขนนกชนิดหนึ่ง ลักษณะคือมีก้านกลาง และมีก้านเล็ก ๆ แยกออกมาจากก้านกลางทั้ง 2 ด้าน ก่อตัวเป็นโครงสร้างแบน โครงสร้างปีกนี้มีพื้นผิวตามหลักอากาศพลศาสตร์ จึงช่วยให้นกบินได้ ซึ่งเป็นขนแบบเดียวกับที่พบเห็นในนกสมัยปัจจุบันและช่วยให้นกบินได้
แต่ขนนกลักษณะนี้ มีมาก่อนในบันทึกฟอสซิลก่อนที่เพนนาแรปโทราจะสามารถวิวัฒนาการจนสามารถบินได้ แล้วคำถามที่นักวิทยาศาสตร์สนใจก็คือ "หากขนไม่ได้มีไว้ส่งเสริมการบิน แล้วมันมีไว้เพื่ออะไรอีกบ้าง ?"
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งสมมุติฐานว่าไดโนเสาร์อาจมีขนเหล่านี้ไว้เพื่อช่วยในการล่าเหยื่อ ด้วยวิธีที่ปรากฏในนกสมัยปัจจุบันบางชนิด เช่น นกชนิดโรดรันเนอร์ (Roadrunner) ซึ่งพวกมันมีพฤติกรรมการหาอาหารที่เรียกว่า “การหาอาหารแบบไล่ตาม” โดยจะกระพือปีกเล็ก ๆ และกางขนหางเพื่อทำให้แมลงต่าง ๆ บินขึ้นมา ก่อนที่จะจิกกินแมลงเหล่านั้น
นก Roadrunner ภาพจาก Wikipedia
เพื่อหาคำตอบว่า ไดโนเสาร์เพนนาแรปโทรา สามารถทำแบบเดียวกันได้หรือไม่ นักวิจัยจึงได้สร้างหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า โรบอปเทอริกซ์ (Robopteryx) ซึ่งจำลองมาจากไดโนเสาร์ขนาดเท่านกยูง สกุล (Genus) คาวดิปเทอริกซ์ (Caudipteryx) โดยทีมงานได้ตั้งโปรแกรมให้โรบอปเทอริกซ์ ทำพฤติกรรมไล่ตามแบบต่าง ๆ 2 - 3 รูปแบบ รวมถึงการกางปีกและยกหางขึ้น
จากนั้นได้นำหุ่นยนต์เข้าไปในป่าเพื่อทดสอบว่าพฤติกรรมนี้สามารถหลอกแมลงได้หรือไม่ ซึ่งเหยื่อในการวิจัยครั้งนี้คือ ตั๊กแตน เนื่องจากตั๊กแตนมีพฤติกรรมตอบสนองต่อการกระพือปีกของนกและนกก็มีสืบเชื้อสายร่วมมากับคาวดิปเทอริกซ์ด้วย
ผลการทดลองพบว่าเมื่อปีกหุ่นยนต์เริ่มกระพือ ตั๊กแตน 93% จะหนี ในจำนวนนี้มี 47% เท่านั้นที่หนีด้วยการกระโดด และผลการวิจัยก็พบว่าหากหุ่นยนต์มีหางด้วย หรือมีรอยแต้มสีขาวบนปีก ตั๊กแตกก็จะหนีมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าไดโนเสาร์บางสายพันธุ์ อาจพัฒนาขนหรือปีกเพื่อช่วยในการล่าสัตว์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีวิวัฒนาการให้ใหญ่ขึ้นและการทำงานซับซ้อนมากขึ้น จนสามารถบินได้ในที่สุด ซึ่งงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารไซเอนติฟิก รีพอร์ทส์ (Scientific Reports) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา
ที่มารูปภาพ NPG Press
ข่าวแนะนำ