วิธีรักษาสิวแห่งอนาคต ! นักวิจัยสเปนตัดต่อพันธุกรรมแบคทีเรีย เพื่อหลั่งโปรตีนรักษาสิว
นักวิจัยจากประเทศสเปน ประสบความสำเร็จในการปรับแต่งพันธุกรรมของแบคทีเรียผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งจะหลั่งโปรตีน NGAL ช่วยรักษาสิว นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญในวงการแพทย์
ทีมนักวิจัยจากภาควิชาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (MELIS) จากมหาวิทยาลัยปุมเปวฟาบรา (Pompeu Fabra University) ประเทศสเปน ประสบความสำเร็จในการปรับแต่งพันธุกรรมของแบคทีเรียผิวหนังชนิดหนึ่งชื่อคิวติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes) ทำให้แบคทีเรียชนิดนี้ผลิตโปรตีน NGAL (Neutrophil Gelatinase-Associated Lipocalin) ซึ่งเป็นโปรตีนตัวกลางของยารักษาสิว ไอโซเตรติโนอิน (isotretinoin) โดยมันจะกระตุ้นให้ซีโบไซต์ (sebocytes) ตาย หรือเซลล์ผิวที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งของไขมัน ดังนั้นมันจึงส่งผลให้ช่วยลดการผลิตไขมัน ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิว ดังนั้นจึงช่วยรักษาสิวได้ นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญในวงการแพทย์
นาสตาเซีย น็อดเซเดอร์ (Nastassia Knödlseder) ผู้เขียนวิจัยหลักบอกว่า คิวติแบคทีเรียม แอคเน่ถือเป็นแบคทีเรียที่ยากหรือทนทานต่อการจัดการและการดัดแปลงเพื่อวัตถุประสงค์ทางพันธุวิศวกรรม (intractable bacterium) ยากมากที่จะแทรก DNA แปลกปลอมเข้าไปในจีโนมของมัน แต่ตอนนี้สามารถทำได้ ทำให้สามารถพัฒนาการบำบัดเฉพาะจุดด้วยวิธีการกำหนดเป้าหมาย ปรับแต่งแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในผิวหนังและทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ผิวของมนุษย์ต้องการ และสามารถรักษาสิวได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่ใช้สำหรับรักษาสิวเท่านั้น แต่มันยังสามารถขยายไปยังขอบเขตอื่น ๆ ได้ด้วย
มาร์ก กูเอล (Marc Güell) ผู้นำการวิจัย คาดหวังที่จะนำเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมเช่นนี้ไปปรับแต่งแบคทีเรียตัวอื่น ๆ เพื่อให้สามารถรักษาโรคอื่น ๆ ได้ โดยตอนนี้ทีมวิจัยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำคิวติแบคทีเรียม แอคเน่ ไปเป็นตัวตรวจจับผิวหนัง (Skin Sensing) และปรับใช้เพื่อปรับภูมิคุ้มกันด้วย
ความคิดริเริ่มในการวิจัยนี้ อยู่ภายใต้โครงการสกินเดฟ (Skindev) ของยุโรป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Translational Synthetic Biology จากมหาวิทยาลัยปุมเปวฟาบรานี้ จะรับผิดชอบเป็นเหมือนวิศวกรผู้ปรับแต่งคิวติแบคทีเรียม แอคเน่ เพื่อรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป้าหมายคือการใช้จุลินทรีย์อัจฉริยะ เพื่อจัดการกับสภาพผิว
ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ เพราะการนำมาใช้รักษาในมนุษย์ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ แต่นักวิจัยก็มองความเป็นได้ในแง่ดี เพราะการทดลองในห้องปฏิบัติการแสดงผลลัพธ์เชิงบวก
การศึกษาครั้งนี้นับเป็นการก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญในด้านการรักษาผิวหนังและแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียที่ได้รับการปรับแต่ง มีศักยภาพที่จะรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Nature Biotechnology) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024
นี่นับเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาสิว แต่อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถรักษาและลดการเกิดสิวได้เบื้องต้น เช่น ดื่มน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างหน้าอย่างถูกต้อง สะอาดหมดจด ป้องกันใบหน้าจากแสงแดด เลือกรับประทานอาหาร และอื่น ๆ ที่มีประโยชน์
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Nature
ที่มารูปภาพ Pexels
ข่าวแนะนำ