โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นเอาไงต่อ ? เมื่อแผ่นดินไหวสร้างคำถามต่อประชาชน
แผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.6 ในคาบสมุทรโนโตะ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรงแล้ว ยังได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นด้วย
ในวันแรกของปี 2024 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.6 ในคาบสมุทรโนโตะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 80 ราย นอกจากผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรงแล้ว แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นด้วย
ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หน่วยงานควบคุมนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority หรือ NRA) ของญี่ปุ่นเพิ่งยกเลิกการแบนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัท โตเกียว อิเล็คทริค (เทปโก) เป็นเจ้าของ โรงไฟฟ้านี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 ถือเป็นโรงงานเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือดขั้นสูง (advanced boiling water reactor หรือ ABWR) แห่งแรกของโลก มีเครื่องปฏิกรณ์ 7 เครื่อง โดย 5 เครื่องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเครื่องละ 1,100 เมกะวัตต์ และอีก 2 เครื่องสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,365 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดนีงาตะ กินพื้นที่ประมาณ 4.2 ตารางกิโลเมตร และอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดประมาณ 120 กิโลเมตร
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ปิดให้บริการในปี 2011 หลังจากเกิดภัยพิบัติที่โรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ส่งผลให้ต้องปิดโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ในปี 2021 NRA พบว่าโรงไฟฟ้านี้มีการละเมิดความปลอดภัยขั้นรุนแรง ทำให้ไม่สามารถปกป้องวัสดุนิวเคลียร์ได้ และปัญหาอื่น ๆ อีก ทำให้ต้องห้ามดำเนินการผลิตไฟฟ้าต่อ จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2023 NRA ยืนยันว่าโรงไฟฟ้านี้ได้แก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว จึงยกเลิกการแบน และเทปโก หวังที่จะเปิดใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้อีกครั้งภายในปี 2024 แต่ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านและนักเคลื่อนไหว ที่หวาดกลัวภัยพิบัติคล้ายที่เกิดกับฟุกุชิมะไดอิจิอีกครั้ง ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดก็ทำให้น้ำรั่วไหลจากแหล่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ แต่เทปโกกล่าวว่าระดับรังสีอยู่ในภาวะปกติ
นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยอิสระอย่างไรสตัด เอ็นเนอร์จี (Rystad Energy) ชี้ว่า “หลังเกิดภัยพิบัติฟูกูชิม่าประชาชนชาวญี่ปุ่นมีความรู้สึกกังวลต่อพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต”
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 30% และญี่ปุ่นตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ดังนั้นจึงมองหาหนทางนำพลังงานทดแทนต่าง ๆ มาใช้ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์
ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 33 แห่ง ซึ่งทั้งหมดถูกสั่งปิดเมื่อปี 2011 ปัจจุบันมีเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติจาก NRA ให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering1, InterestingEngineering2
ที่มารูปภาพ Wikipedia1, Wikipedia2
ข่าวแนะนำ