เจาะโร้ดแมป Lenovo เดินหน้าธุรกิจสู่ความยั่งยืน
เจาะโร้ดแมปของ Lenovo หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ในการเดินหน้าสู่บริษัทที่ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
เลอโนโว (Lenovo) แบรนด์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับท็อปของโลก นำโดยนายธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ TNN Tech ระบุว่า ตลอด 18 ปีที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เลอโนโวเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เบอร์ 1 ของโลก จนกระทั่งประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ก็ได้ขยับมาทำในแง่ของธุรกิจบริการ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ที่เรียกว่า 3S Strategies ซึ่งประกอบไปด้วย Smart IoT , Smart Infrastructure และ Smart Verticals โดยที่ทั้งหมดนี้ครอบคลุมด้วยคำว่า Smarter Technology for All หมายถึงว่า ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถครอบคลุมด้วยเทคโนโลยีของเลอโนโวได้ทั้งหมด
โดยธุรกิจของเลอโนโว แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน
กลุ่มแรก IDG (Intelligent Devices Group) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็ปเล็ต ไปจนถึงกลุ่มอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ
กลุ่มที่สอง ISG (Infrastructure Solutions Group) ไม่ว่าจะเป็น Server แหล่งจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ อย่าง Data Center โดยเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กร
และกลุ่มที่สาม SSG (Solutions and Services Group) ที่คอยพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์หลาย ๆ ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต ค้าปลีกหรือแม้แต่การเงิน เรียกได้ว่าเป็น Smart Verticals
ซึ่งเหตุผลที่เลอโนโวต้องเป็นมากกว่าผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และหันมาทำธุรกิจด้านบริการและโซลูชันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กร เนื่องจากเลอโนโวมองว่า ในแง่ของตลาดคอมพิวเตอร์ มันไม่ได้มีแค่กลุ่มอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แต่จะมีในส่วนของหัวใจอย่าง Data Center รวมถึงในแง่ของตัวต่อเชื่อมและเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเลอโนโวได้ทำตลาดกว่า 180 ประเทศ ด้วยพนักงานกว่า 77,000 คนทั่วโลก และในประเทศไทยเอง เลอโนโวเป็นที่หนึ่งในทั้งตลาด Commercial ตลาดผู้บริโภคทั่วไป ตลาดองค์กรและตลาดผู้ประกอบการรายย่อย (SME)
เลอโนโวกับ Digital transformation ในประเทศไทย
ที่ผ่านมาเลอโนโว ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการทำ Digital transformation หรือการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยบริการและโซลูชั่นต่าง ๆ ที่ครอบคลุมหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่น บริการที่ชื่อว่า Tool scale ภายในจะประกอบไปด้วย 18 โมดูล สามารถให้ลูกค้าหยิบเลือกไปใช้ได้ว่าโมดูลใดที่เหมาะกับองค์กร
ในแง่ของการทำอุปกรณ์ IoT ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปตรวจสต็อกในห้องเย็น -20 องศา โดยที่อุปกรณ์ก็ยังใช้งานได้ เพราะฉะนั้น เลอโนโวจะมีโซลูชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ ผลักดันให้ลูกค้าเข้าไปสู่ยุคที่เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ ภายในองค์กรของเลอโนโวเอง ก็ได้ปรับเปลี่ยนการทำงาน สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยมีโปรแกรมหลังบ้านอย่าง Digital Workplace Solution ที่ประกอบไปด้วย Hardware, Software และ Security ที่ให้ผู้ใช้งานและองค์กรมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรเมื่อพนักงานทำงานจากภายนอก
เลอโนโวกับการเดินหน้าสู่ Sustainability
สำหรับเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) เลอโนโวได้ดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2005 โดยมีการเปิดตัวโปรแกรม Environmentally Conscious Product Program โดยเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกปรับใช้อย่างเข้มข้นขึ้น ภายใต้มาตรฐาน Net Zero Standard พร้อมกับตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% และในปี 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลกเป็นศูนย์
ในแง่ของการผลิต เลอโนโว เพิ่งก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ประเทศฮังการี โดยตัวโรงงานมีโซลาร์เซลล์เข้ามาเป็นพลังงานทดแทนในแง่ของการผลิตต่างๆ กว่า 0.5 เมกะวัตต์ หรือสามารถจ่ายไฟให้หมู่บ้านขนาด 100 หลังคาเรือนได้ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตที่อู่ฮั่นเป็นโรงงานแรกในจีน ที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน CESI (China Electronics Standardization Institute) ด้านการสร้างความยั่งยืนในสายของบริษัทด้าน ICT อีกด้วย
ในแง่ของผลิตภัณฑ์ เลอโนโวได้ใช้ตัวพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้มาออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น ThinkPad X1 หนึ่งในซีรีส์โน๊ตบุ๊กสายทำงานของเลอโนโว ประกอบไปด้วยวัสดุพลาสติก Post Consumer Content (PCC) ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้กว่า 90%
ขณะที่วัสดุกันกระแทกสำหรับคอมพิวเตอร์ เลอโนโวได้บอกลาการใช้โฟม แต่เลือกใช้วัสดุจากเยื่อไผ่ ชานอ้อย ทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ได้ออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถพับและประกอบเข้าล็อกได้อย่างลงตัว โดยไม่ต้องใช้เทปเพื่อล็อกพันรอบกล่อง ทำให้ประหยัดเทปดังกล่าวได้กว่า 54 ตันต่อปี
ไม่เพียงแต่ภาคการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใส่ใจผู้บริโภค แต่ในเรื่องของโลจิสติกส์ หรือการขนย้ายสินค้า เลอโนโวเองก็มีพันธกิจสำคัญที่วางแนวทางเช่นกัน คือพันธมิตรด้านการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็น เรือ รถ เครื่องบิน ก็ต้องใช้พลังงานที่รักสิ่งแวดล้อมด้วย
กุญแจสำคัญสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ กุญแจสำคัญ หรือ Key to success ที่จะทำให้เลอโนโวไปถึงเป้าหมายสู่การเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ คือทุกคนในองค์กรจะต้องเดินหน้าเรื่องนี้ไปพร้อมกัน โดยนายธเนศย้ำว่า ความสำเร็จของเส้นทางนี้ ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วนหลัก คือ องค์กรจะต้องมีภาพที่ชัดเจนและอีกส่วนหนึ่งคือความรับผิดชอบส่วนบุคคล ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
“อย่าง Lenovo Thailand เราเองก็ต้องพูดสื่อสารให้น้องๆพนักงานฟังว่าเราจะไปทิศทาง sustainability นะ ช่วยพาลูกค้าของเราไปถึงตรงนั้นด้วยเช่นกัน” นายธเนศกล่าว
เลอโนโวกับทิศทางในปี 2024
อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 เลอโนโวยังดำเนินธุรกิจโดยยึดไปที่ความยั่งยืนเช่นเดิม แต่จะเน้นย้ำให้ชัดขึ้น ทำให้เป็นมากกว่าความตระหนักรู้ แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง ขณะเดียวกัน จะเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเพิ่มความสามารถของคอมพิวเตอร์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่นำเอไอมาปรับใช้โดยการทำให้แบตเตอรี่ทำงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดพลังงานของแบตเตอรี่ด้วย
ทั้งหมดนี้ ได้เห็นความพยายามของเลอโนโว ที่ไม่เพียงการรังสรรค์สินค้าและบริการออกมาขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยี และตอบโจทย์ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าไปพร้อมกับความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ร่วมผลักดันสังคมไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ระดับโลก ที่ตอบแทนสังคมด้วยการคิดผลิตภัณฑ์และบริการ ไปจนถึงวางแนวทางองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าทุกบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้ เดินหน้าเต็มกำลังแบบนี้ เชื่อว่าจะช่วยโลกของเราไว้ได้เยอะแน่นอน
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67