แฟชันดิไซน์แปลก สอดแทรกเทคโนโลยี | TNN Tech Reports
วงการแฟชั่น เป็นอีกหนึ่งวงการ ที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนผลักดัน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายแนวคิดใหม่ๆ จนสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าได้
วงการแฟชั่นเป็นอีกหนึ่งวงการที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนในการผลักดัน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายแนวคิดใหม่ๆ จนสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าได้
หลายคนอาจจะเคยเห็นตัวอย่างกันมาบ้าง อย่างในต่างประเทศ ที่สร้างเสียงฮือฮาเป็นไวรัลทั่วโลกเมื่อปลายปีที่แล้ว กับชุด สเปรย์ ออน เดรส (Spray-On Dress) จากแบรนด์ฝรั่งเศส คอร์เปอร์นี (Coperni) บนเวที Paris Fashion Week ซึ่งเป็นชุดรัดรูปสีขาวที่เกิดขึ้นจากการแค่ฉีดสเปรย์ของเหลวที่มีส่วนผสมของเส้นใยผ้า และสารละลายโพลีเมอร์ ลงไปบนตัวของนางแบบ ก็ออกมาเป็นชุดให้เดินเฉิดฉายกันเลย นอกจากนี้ ปัจจุบันก็ยังมีผลงานอื่น ๆ ในแวดวงแฟชันที่ได้สอดแทรกเทคโนโลยีเข้าไปไว้อย่างน่าสนใจ
Adobe เปิดตัวเดรสดิจิทัลเปลี่ยนลายได้
ชุดเดรสดิจิทัล เป็นหนึ่งในผลงานที่นำความสามารถของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาช่วยปรับเปลี่ยนลวดลายบนชุดได้ โดยชุดนี้อยู่ในโปรเจกต์ พิมโรส (Project Primrose) ผลงานจากอะโดบี (Adobe) บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเปิดตัวในเวทีแสดงผลงานของอะโดบี ที่จัดขึ้นเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม
สำหรับโปรเจกต์ พิมโรส เป็นการพัฒนาสิ่งทอแบบไม่สะท้อนแสงคู่กับการใช้งานโมดูลกระจายแสงสะท้อน เพื่อให้ได้วัสดุที่สามารถใช้งานได้ในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟ (interactive) หรือสามารถตอบสนองต่อคำสั่งต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้นักออกแบบสามารถถ่ายทอดผลงานลงบนชุด และทำให้งานออกแบบมีชีวิตขึ้นมาได้ ผ่านการเคลื่อนไหวบนผืนผ้า
โดยสิ่งทอที่พัฒนาขึ้นนี้ จะสามารถแสดงเนื้อหาที่สร้างด้วยเครื่องมือสร้างสรรค์ของอะโดบี เช่น ไฟร์ฟลาย (Firefly) หรือเครื่องมือเอไอช่วยออกแบบ, อาฟเตอร์ เอฟเฟกต์ (After Effects) หรือเครื่องมือสร้างกราฟิกเคลื่อนไหว โดยสามารถรวมเทคโนโลยีนี้เข้ากับเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดผลงานใหม่ในสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีชุดเดรสยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบบนชุดให้สอดคล้องไปกับทิศทางการเคลื่อนไหวของเนื้อผ้าและตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ได้ด้วย
“เสื้อดินน้ำมัน” แฟชั่นแปลก รีไซเคิลง่าย
เสื้อดินน้ำมัน เป็นการสร้างสรรค์ของแบรนด์แฟชันจากอังกฤษ เจดับเบิลยู แอนเดอร์สัน (JW Anderson) ที่เปิดตัวคอลเลกชัน โมลเด็ด เคลย์(Moulded Clay) เสื้อผ้าฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 2024 ด้วยชุดที่ปั้นขึ้นมาจากดินน้ำมันทั้งชุด ออกมาเป็นเสื้อฮู้ดและกางเกงขาสั้นสุดชิค เพื่อสื่อถึงความสร้างสรรค์สนุกสนานและมีชีวิตชีวา
โดยใช้วัสดุพลาสติกซีน (Plasticine) เป็นดินน้ำมันหรือดินเหนียวพลาสติก ซึ่งปกติมักใช้ในการขึ้นรูปผลงานศิลปะและการสร้างการ์ตูนแอนิเมชันแบบสต๊อปโมชัน ส่วนประกอบทำมาจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม แคลเซียมคาร์บอเนต และเม็ดสี
ซึ่งจุดเด่นของดินน้ำมัน อยู่ตรงที่มันสามารถแข็งขึ้นรูปได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการเผา และเสื้อผ้าที่ได้รูปทรงจะมีความคงตัวเป็นเอกลักษณะไม่ซ้ำใคร ซึ่งวัสดุนี้ก็สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อใช้งานใหม่ได้ง่ายกว่าพลาสติก
ชุดเดรสพลังจิต สะท้อนการทำงานของสมอง
ว่ากันว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าแนวคิดที่ว่านี้ไปอยู่บนเสื้อผ้า และผลงานนั้นก็คือ “สกรีนเดรส” เสื้อผ้าสุดล้ำที่มีหน้าจอรูปดวงตา ที่แสดงผลการตอบสนองจากสมองผู้สวมใส่ได้ เพื่อช่วยเผยความรู้สึกนึกคิดในชีวิตประจำวัน ต่อโลกภายนอกได้ผ่านเสื้อผ้า
เป็นผลงานของดิไซเนอร์ชาวเนเธอร์แลนด์ อานุก วิปเพรชต์ (Anouk Wipprecht) ที่ได้ออกแบบระบบอินเตอร์เฟซ ที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในแต่ละวัน สมองของมนุษย์ต้องตอบสนองกับสิ่งเร้ามากน้อยเพียงใด
โดยลูกตาแต่ละดวง เป็นหัวใจสำคัญของชุดสกรีนเดรส จะอาศัยเทคโนโลยีแผงวงจรชิปที่เชื่อมต่อกับที่คาดศีรษะ ยูนิคอร์น เฮดแบนด์ (Unicorn Headband) ซึ่งพัฒนาร่วมกับ จีเทค (G.tec) บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์และระบบประสาทชื่อดัง
ที่คาดศีรษะดังกล่าว คืออุปกรณ์อินเตอร์เฟซสมอง และคอมพิวเตอร์ 4 ช่องทาง มีเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นสมองช่วยบันทึกการทำงานของสมองได้แบบเรียลไทม์ และใช้เทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิง (Machine Learning) ช่วยในการประมวลผล
สำหรับการสวมใส่ใช้งานจริง จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 นาที ในการปรับระบบให้เข้ากับผู้ใช้ในช่วงแรก แล้วค่อยถ่ายโอนข้อมูลไปยังจอแสดงผลรูปดวงตาทั้ง 6 ดวงของชุด ก่อนที่จะถ่ายทอดสู่โลกภายนอกแบบเรียลไทม์ โดยหากผู้สวมใส่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพิ่มมากขึ้น ตัวม่านตาและรูม่านตาของดวงตาแต่ละดวงก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67