NASA ส่งวิดีโอแมวส้มจากยานอวกาศกลับสู่โลกได้สำเร็จ
NASA ส่งภาพวิดีโอของแมวส้ม “Taters” ระยะไกล จากระยะทาง 19 ไมล์จากยานอวกาศกลับสู่โลกได้สำเร็จ ต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีการส่งข้อมูลในอนาคต
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) ประสบความสำเร็จในการส่งคลิปวิดีโอความยาว 15 วินาที ของน้องแมวส้ม “เทเตอร์” (Taters) ด้วยความละเอียดแบบ Ultra-HD จากยานสำรวจที่อยู่ไกลจากโลกไปเกือบ 19 ล้านไมล์ หรือ 31 ล้านกิโลเมตร กลับมายังโลกของเราได้สำเร็จ
คลิปวิดีโอที่ว่านี้ เป็นภาพของเจ้าเหมียวเทเตอร์ น้องแมวของพนักงานคนหนึ่ง จากห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ของนาซา ที่กำลังเล่นไล่จับแสงเลเซอร์บนโซฟาอย่างสนุกสนาน ซึ่งเบื้องหลังคลิปวิดีโอสุดน่ารักนี้ ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบของนาซา ในการทดลองส่งวิดีโอส ตรีมมิ่งผ่านห้วงอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเลเซอร์ที่เรียกว่า Deep Space Optical Communications ที่ประกอบด้วยเครื่องรับส่งสัญญาณเลเซอร์บนตัวยานสำรวจอวกาศ และเครื่องรับส่งเลเซอร์ภาคพื้นดิน
เทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเลเซอร์นี้ นาซาระบุว่าจะสามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วตั้งแต่ 10 ถึง 100 เท่า ของระบบคลื่นวิทยุแบบเดิมที่นาซาใช้ในภารกิจอื่น ๆ จึงอาจจะเป็นการปูทางไปสู่เทคโนโลยีในการส่งข้อมูล ภาพและวิดีโอได้อย่างรวดเร็ว สำหรับใช้ในภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคต
โดยทีมงาน ได้ส่งวิดีโอแมวเทเตอร์ ไปกับยานสำรวจอวกาศไซคี (Psyche) ที่เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งออกเดินทางไปเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา และในวันที่ 11 ธันวาคม ยานไซคีก็ได้ทำภารกิจส่งคลิปวิดีโอของเจ้าแมวส้มกลับสู่โลก ในรูปแบบเลเซอร์อินฟราเรด ผ่านระยะทางที่คิดเป็นประมาณ 80 เท่า ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ โดยใช้เวลาเพียง 101 วินาทีเท่านั้น ในการส่งวิดีโอกลับมาถึงโลกได้สำเร็จ ซึ่งทีมงานระบุว่าความเร็วนี้ถือว่าเร็วกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนโลกส่วนใหญ่อีกด้วย
นาซาเรียกความสำเร็จครั้งนี้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการส่งสัญญาณวิดีโอบรอดแบนด์ เป็นระยะทางหลายล้านไมล์ ซึ่งถ้าพัฒนาต่อไป อาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารของภารกิจระหว่างดาวเคราะห์ในอนาคตได้ทีเดียว
ข้อมูลจาก theguardian, interestingengineering, edition.cnn.com, jpl.nasa.go
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67