TNN ญี่ปุ่นทดสอบเครื่องยนต์จรวดไปนอกโลกด้วยเชื้อเพลิงจากขี้วัวสำเร็จ !

TNN

Tech

ญี่ปุ่นทดสอบเครื่องยนต์จรวดไปนอกโลกด้วยเชื้อเพลิงจากขี้วัวสำเร็จ !

ญี่ปุ่นทดสอบเครื่องยนต์จรวดไปนอกโลกด้วยเชื้อเพลิงจากขี้วัวสำเร็จ !

สตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์ของจรวดขนส่งอวกาศที่ใช้พลังงานสะอาดจากมูลวัว 100% ในการพาตัวจรวดขึ้นไป หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อินเตอร์สเตลลาร์ เทคโนโลยี (Interstellar Technologies) บริษัทอวกาศน้องใหม่จากญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องยนต์จรวดจรวดขนส่งอวกาศด้วยเชื้อเพลิงที่ทำมาจากมูลวัวซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อนพัฒนาเพื่อขึ้นวงโคจรในปี 2025 ภายใต้ชื่อว่าเซโร่ (Zero) ที่สื่อถึงการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ต่อไป


การทดสอบเครื่องยนต์จรวดไปนอกโลกด้วยเชื้อเพลิงจากขี้วัว

การทดสอบเกิดขึ้นที่ศูนย์ท่าอวกาศยานฮอกไกโด (Hokkaido Spaceport's Launch Complex) ในเมืองไทกิ จังหวัดโทคาจิ เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการทดสอบการติดเครื่องยนต์แบบอยู่กับที่ หรือที่เรียกว่า สแตติก ไฟร์ เทส (Static Fire Test) เป็นเวลา 10 วินาที 


โดยเชื้อเพลิงที่ใช้นั้นเป็นมีเทนเหลว (Liquid Methene) ที่ได้จากการหมักมูลวัว หรือเรียกว่าไบโอมีเทน (Biomethene) ทั้งหมด จะใช้กับเครื่องยนต์ของจรวดที่มีชื่อว่าเซโร่ (Zero) ซึ่งเป็นจรวดสองระยะ (2-stage rocket) โดยระยะแรกจะใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงขับดัน (Thurst) ทั้งหมดอยู่ที่ 130 กิโลนิวตัน (kN) หรือประมาณ 13 ตัน ในการพุ่งทะยานจากสถานีขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อนติดเครื่องยนต์ในระยะที่สองเพื่อดันตัวจรวดและสัมภาระไปยังระดับวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ต่อไป


เป้าหมายจรวดไปนอกโลกด้วยเชื้อเพลิงจากขี้วัว

อีกจุดเด่นของจรวดเซโร่ คือต้นทุนการส่งวัตถุไปยังอวกาศ โดยบริษัทคาดว่าการส่งวัตถุไปอวกาศแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 800 ล้านเยน หรือประมาณ 200 ล้านบาท จากต้นทุนการผลิตที่ถูกลง เนื่องจากใช้อะลูมิเนียมและพลาสติกที่เสริมโครงสร้างด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon fiber) ที่มีราคาถูกการใช้โลหะอย่างเช่นสเตนเลส เป็นโครงสร้างหลัก โดยเซโร่ จะรองรับวัตถุ (Payload) ทั้งหมดไม่เกิน 150 กิโลกรัม


ทั้งนี้ ถ้าหากบริษัท Interstellar Technologies สามารถทำได้จริง จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ออกมาให้ข้อมูลว่าสตาร์ชิป (Starship) จรวดขนส่งอวกาศที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการส่งสัมภาระ (Payload) ไปยังอวกาศอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 360 ล้านบาท 


โดย Interstellar Technologies ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าเป็นบริษัทหรือองค์กรในเอเชียและโอเชเนีย โดยคาดว่าเซโร่จะสามารถขึ้นบินเป็นครั้งแรกได้ภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้ พร้อมเปิดตัวจรวดรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานชีวภาพหลังปี 2030 เป็นต้นไป



ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, AS

ที่มารูปภาพ Interstella Technology



ข่าวแนะนำ