TNN บทสรุป KEETA ไม่ได้ไปอวกาศ แต่ได้ความรู้มอบให้คนไทย | TNN Tech Reports

TNN

Tech

บทสรุป KEETA ไม่ได้ไปอวกาศ แต่ได้ความรู้มอบให้คนไทย | TNN Tech Reports

บทสรุป KEETA ไม่ได้ไปอวกาศ แต่ได้ความรู้มอบให้คนไทย | TNN Tech Reports

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 หากใครที่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับอวกาศเป็นประจำ ก็คงจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของทีม KEETA ทีมนักศึกษาไทยที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันการผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศของนาซาในการเดินทางไปดาวอังคาร โดยทีม KEETA สามารถผ่านเข้าไปถึงเฟสที่ 2 แต่ไปไม่ถึงเฟสที่ 3 ตามที่ตั้งเป้าไว้



2021 เป็นปีที่นาซา หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ยื่นโจทย์สำคัญกับทั่วโลก ด้วยการจัดประกวด Deep Space Food Challenge เพื่อหาทีมผลิตอาหารสำหรับภารกิจเดินทางไปสำรวจดาวอังคาร ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งต้องผลิตให้เพียงพอต่อนักบินอวกาศ 4 คนโดยไม่มีเสบียงเพิ่ม ที่สำคัญคือใช้เวลาการเตรียมอาหารให้น้อยที่สุด นั่นก็คือ 1 ชั่วโมงต่อมื้อ ซึ่งอาหารจะต้องมีความปลอดภัย มีโภชนาการสูง เป็นมิตรกับอวกาศและโลกด้วย 


หนึ่งในทีมที่เข้าแข่งขัน เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ที่มีชื่อว่า กีฏะ (KEETA) ด้วยผลงานการผลิตอาหารให้นักบินอวกาศจากหนอน ซึ่งทำให้พวกเขาผ่านเข้าเฟสที่ 1 ในปีเดียวกัน และเป็นทีมจากเอเชียเพียงทีมเดียวที่สามารถผ่านเข้ารอบถึงเฟสที่ 2 จากทั้งหมด 11 ทีมทั่วโลก 


ทีมกีฏะ


ผลงานของทีมกีฏะ ไม่ได้เป็นเพียงการผลิตอาหารเป็นจาน ๆ เพียงอย่างเดียว แต่คือการวางระบบหมุนเวียนที่ครบวงจร


เริ่มตั้งแต่การฟักไข่หนอน เลี้ยงจนกระทั่งหนอนโต โดยหนอน 10 คู่ จะถูกแบ่งมาทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในการผลิตรอบถัดไป  ส่วนหนอนที่เหลือจะถูกนำไปเป็นอาหารให้กับนักบินอวกาศ 


และในช่วงเวลาเดียวกัน ต้นถั่วจะถูกปลูกตั้งแต่เป็นเมล็ด ต้นถั่วที่โตแล้วจะถูกนำไปเป็นอาหารหนอน ขณะที่เมล็ดถั่วที่ได้จากต้นใหม่ ส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้ปลูกในวงจรถัดไป และอีกส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเป็นอาหารของนักบิน ผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ


ซึ่งของเสียที่เกิดจากกระบวนการทั้งหมดจะถูกนำมาบำบัดเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ โดยระบบจะเป็นวัฏจักรหมุนไปเรื่อยๆ ซึ่งทีมกีฏะมั่นใจว่าระบบที่พวกเขาวางไว้อยู่บนอวกาศได้เกิน 3 ปี 


จุดเด่นของทีมกีฏะ คือการจัดการของเสีย ไปจนถึงการผลิตอาหารที่สะอาด ปลอดภัย กินได้จริง ถึงขั้นนาซายังต้องเอ่ยปากชม


แม้ว่าความสามารถของระบบผลิตอาหารจากทีมกีฏะจะครบถ้วนและสมบูรณ์แบบเพียงใด แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่งขึ้นไปบนอวกาศ ทำให้ทีมไม่ได้ไปต่อในเฟสที่ 3 


แต่นั่น ก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะพวกเขายังเดินหน้าเฟสที่ 3 ในรูปแบบของตัวเองอยู่ พร้อมกับส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศไปยังเกษตรกร คนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ทางทีมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่อยอดจากการแข่งขันไปสู่ระบบในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร


อย่างไรก็ดี ตามความเห็นของทีม หากประเทศไทยต้องการจะเดินหน้าสู่การเป็นประเทศแถวหน้าของโลกด้านอวกาศ จำเป็นจะต้องปลดกระดุมเม็ดแรกด้วยการผลักดันงานวิจัย และเร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกิจการอวกาศ เพื่อจะได้ปลดล็อกหลายข้อจำกัด กระทั่งพัฒนาคนไทยไปสู่การสร้างเศรษฐกิจอวกาศ


ทั้งหมดนี้ ทำให้ได้เห็นความพยายามทีมกีฏะ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย กับการชิงตั๋วผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศของนาซา  ที่แม้ว่าจะไม่ผ่านเข้าถึงรอบสุดท้าย แต่เมื่อถอดบทเรียนแล้ว สามารถนำองค์ความรู้มากมายที่ได้จากการแข่งขันไปส่งต่อให้กับเกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ