TNN นักวิจัยจีนและเลบานอนพบฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุ 130 ล้านปี !

TNN

Tech

นักวิจัยจีนและเลบานอนพบฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุ 130 ล้านปี !

นักวิจัยจีนและเลบานอนพบฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุ 130 ล้านปี !

นักวิจัยจากจีน และเลบานอน ค้นพบข้อมูลวิวัฒนาการสำคัญของยุง จากฟอสซิลยุงในยางไม้ที่มีอายุกว่า 130 ล้านปี ซึ่งนับเป็นฟอสซิลยุงที่มีอายุมากที่สุดในโลกในตอนนี้

ยุงเป็นแมลงที่ต้องการเลือดสัตว์เพื่อเลี้ยงไข่ในตัวเมีย ซึ่งการดูดเลือดของยุงได้กลายเป็นพาหะของโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมถึงไข้เลือดออก และมาลาเรีย แต่ล่าสุดนักวิจัยกลับพบอวัยวะดูดเลือดในยุงเพศผู้ ที่ถูกผนึกในยางไม้หรือที่เรียกว่าอำพัน (Amber) อายุ 130 ล้านปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบในยุงเพศผู้มาก่อน


รายละเอียดยุงในอำพันอายุ 130 ล้านปี

ยุงที่พบในอำพันหรือยางไม้นั้นค้นพบในประเทศเลบานอน และนำไปวิจัยต่อโดยนักวิจัยจากสถาบันธรณีและบรรพชีวินวิทยาแห่งหนานจิง (Nanjing Institute of Geology and Paleontology) ซึ่งช่วยสนับสนุนองค์ความรู้และกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลบานอน (Lebanese University) เผยให้เห็นภาพของฟอสซิล หรือซากยุงเพศผู้ ที่มีอายุ 130 ล้านปี ในสภาพที่สมบูรณ์ 


และจากการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ของยุงในยางไม้เทียบกับยุคปัจจุบัน ทำให้นักบรรพชีวินพบว่า ยุงตัวผู้อายุ 130 ล้านปี มีปากที่เป็นเข็มไว้ดูดเลือด ทั้งที่ยุงที่ดูดเลือดในปัจจุบันนั้นเป็นตัวเมีย แต่ว่าสิ่งที่แตกต่างมีเพียงความยาวปากที่สั้นกว่าตัวเมียในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการค้นพบทางบรรพชีวินวิทยาครั้งสำคัญของโลก


ยุงในอำพันอายุ 130 ปี สู่หลักฐานวิวัฒนาการของยุง

โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ายุงเกิดขึ้นมาในช่วงระหว่าง 200 - 145 ล้านปีก่อน และเริ่มจากเป็นแมลงทั่วไปที่ไม่กินเลือดแต่กินน้ำหวานจากพืช ก่อนที่จะเริ่มวิวัฒนาการเพื่อดูดเลือดสัตว์ในภายหลัง และยุงในยางไม้นี้ทำให้รู้ว่า ยุงที่ดูดเลือดเดิมทีเป็นทั้งยุงตัวผู้และตัวเมีย แต่ภายหลังด้วยปัจจัยบางอย่าง ทำให้ความสามารถในการดูดเลือดเหลือเพียงแค่ในตัวเมียเท่านั้น


แม้ว่ายุงจะคร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกกว่าปีละ 400,000 คน จากการเป็นพาหะโรคมาลาเรีย แต่ในขณะเดียวกัน ยุงก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ช่วยทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาดมากขึ้น จากอุปนิสัยที่ใช้ปากกวัดแกว่งผิวน้ำเพื่อกินจุลินทรีย์และอนุภาคที่ทำให้น้ำเสีย ดังนั้น การศึกษาวิวัฒนาการและสิ่งแวดล้อมของยุงจึงเป็นงานสำคัญเช่นกัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีชื่อว่าเคอเรนต์ ไบโอโลจี (Current Biology) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา


ที่มาข้อมูล ReutersInteresting Engineering

ที่มารูปภาพ EurekAlert 

(มีการปรับแต่งภาพด้วย AI)

ข่าวแนะนำ