TNN รักษาโควิดหายแล้ว แต่ยังไม่จบ ! นักวิจัยพบโควิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองด้วย

TNN

Tech

รักษาโควิดหายแล้ว แต่ยังไม่จบ ! นักวิจัยพบโควิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองด้วย

รักษาโควิดหายแล้ว แต่ยังไม่จบ ! นักวิจัยพบโควิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองด้วย

งานวิจัยชิ้นแรกที่เปรียบเทียบสมองของคน 3 กลุ่มคือ ผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิด ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการลองโควิด และผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคโควิดเลย พบโครงสร้างสมองจุลภาคมีการเปลี่ยนแปลง และสัมพันธ์กับระบบสมองด้วย

งานวิจัยใหม่ที่นำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมรังสีวิทยาแห่งอเมริกาเหนือในระหว่างวันที่ 1 - 4 ธันวาคม ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่พบว่าโครงสร้างจุลภาค (Microstructure) ในสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการโควิดระยะยาว หรือลองโควิด (Long Covid) 


ทั้งนี้สำหรับโรคติดเชื้อโควิด 19 เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และผู้ป่วยประมาณ 10 - 25% อาจมีอาการลองโควิด ซึ่งมีอาการที่หลากหลาย เช่น มีอาการเหนื่อยล้าได้ง่าย สูญเสียประสาทสัมผัสการรับรสและกลิ่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก อาการเหล่านี้อาจเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เดือน หรือบางกรณีเรื้อรังเป็นปี แต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการลองโควิดนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ดังนั้นงานวิจัยนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราพบคำตอบและสามารถแก้ไขปัญหาอาการลองโควิดได้ในอนาคต


รักษาโควิดหายแล้ว แต่ยังไม่จบ ! นักวิจัยพบโควิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองด้วย

ที่มารูปภาพ RSNA


อเล็กซานเดอร์ ราว (Alexander Rau) หัวหน้าทีมวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก (University Hospital Freiburg) ประเทศเยอรมนี อธิบายว่า นี่คือการศึกษาครั้งแรกที่มีการเปรียบเทียบผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดกับผู้ที่ไม่เคยติดโควิด และผู้ที่เคยติดโควิดแต่ไม่มีอาการลองโควิด


การวิจัยใช้เทคนิคการถ่ายภาพสมองแบบใหม่ เรียกว่า การถ่ายภาพโครงสร้างจุลภาคแบบแพร่กระจาย (Diffusion Microstructure Imaging หรือ DMI) ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบโมเลกุลน้ำเคลื่อนที่ผ่านเนื้อเยื่อสมอง ว่าเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างไร ด้วยความเร็วเท่าไหร่ ดังนั้นมันจึงสามารถให้ภาพโครงสร้างจุลภาคของสมองได้


สำหรับผลการศึกษา หากมองภาพรวมของสมองจะถือว่าไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน แต่หากมองละเอียดเข้าไปในโครงสร้างจุลภาคก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ป่วยโควิดทั้งผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดและไม่มีอาการ โดยจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของสารสีเทาในสมอง แต่ของผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดจะเปลี่ยนแปลงมากกว่า และยังเผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสมองที่เปลี่ยนแปลง กับส่วนสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้บกพร่อง การรับรู้กลิ่น และการเกิดอาการเหนื่อยล้าด้วย


อเล็กซานเดอร์ ราว อธิบายเพิ่มเติมว่า “อาการลองโควิดมีความสัมพันธ์กับระบบสมอง ซึ่งบ่งบอกถึงพื้นฐานทางพยาธิสรีระวิทยา (Pathophysiological) ของแต่ละกลุ่มอาการ”


อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้จุดประกายความสงสัยข้ออื่น ๆ ให้นักวิจัยเพิ่มเติม และหวังว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โครงสร้างสมองที่ถูกเปลี่ยนแปลงนี้จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่ ? และอะไรที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้โครงสร้างสมองเปลี่ยนไปในลักษณะนั้น ? แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ และสร้างความหวังว่าในวันหนึ่งเราจะเข้าใจอาการลองโควิด และแก้ไขปัญหามันได้


ที่มาข้อมูล RSNA, NewAtlas

ที่มารูปภาพ RSNA

ข่าวแนะนำ