นักวิทย์พบปลาประหลาดใต้ทะเลลึก มีพฤติกรรม "ว่ายน้ำกลับหัวตลอดชีวิต"
นักวิทยาศาสตร์พบปลาสกุล Gigantactis มีพฤติกรรมว่ายน้ำกลับหัวตลอดชีวิต สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการจัดการกับส่วนปลายเหยื่อที่ยื่นออกมา ทำให้ยื่นไปใกล้พื้นทะเลหรือตามพืชทะเลเพื่อหาอาหารได้ง่ายขึ้น
นักชีววิทยาทางทะเล ได้ค้นพบว่ามีปลาสกุลไจแกนแทคติส (Gigantactis) ซึ่งถือเป็นปลาตกเบ็ด (anglerfish) ชนิดหนึ่ง มีพฤติกรรมแปลกประหลาด คือไหว้น้ำกลับหัวตลอดชีวิตของมัน การค้นพบนี้ตีพิมพ์ในวารสารชีววิทยาปลา (Journal of Fish Biology) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2023
ทีมนักวิจัยบังเอิญพบพฤติกรรมแปลกประหลาดนี้ผ่านเทคโนโลยียานพาหนะควบคุมทางไกล (Remotely Operated Vehicle หรือ ROV) ที่ใช้สำหรับถ่ายภาพใต้มหาสมุทร จากนั้นได้ศึกษาพฤติกรรมเช่นนี้เพิ่มเติมในหลายมหาสมุทรทั่วโลก ทั้งมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย
โดยพบว่า ปลาตกเบ็ดไจแกนแทคติสเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็ก มีเส้นยาวที่งอกออกมาจากส่วนปากบน และตรงปลายมีลักษณะคล้ายเหยื่อ ซึ่งสามารถเรืองแสงได้ด้วยแบคทีเรีย สำหรับล่อสัตว์ให้เข้ามาก่อนจะจับกินเป็นอาหาร มันอาศัยอยู่ที่ระดับน้ำลึกตั้งแต่ 910 เมตร - 2,440 เมตร และเนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกมาก นักวิจัยจึงรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพวกมันน้อยมากเช่นกัน
ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อปี 1999 ROV สำหรับถ่ายภาพใต้ท้องทะเลลำหนึ่ง สามารถตรวจจับภาพปลาตกเบ็ดตัวหนึ่งที่ว่ายน้ำกลับหัวได้บริเวณทะเลระหว่างรัฐฮาวายและแคลิฟอเนียร์ในสหรัฐอเมริกา แต่ในตอนนั้นนักวิจัยคิดว่ามันเป็นพฤติกรรมแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นแค่ปลาตัวนั้นตัวเดียว
แต่หลายปีต่อมา นักวิจัยก็ได้เห็นพฤติกรรมประหลาดแบบนี้ผ่านกล้อง ROV ที่ถ่ายภาพบริเวณร่องลึกก้นสมุทร อิซุ-โอกาซาวาระ (Izu-Ogasawara) นอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น จากนั้นนักวิจัยจึงได้ศึกษาพฤติกรรมปลาตกเบ็ดแบบนี้อีก 8 ตัว และตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกิจกรรมบางอย่าง เช่น ตอนหาอาหาร หรือตอนผสมพันธุ์ แต่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งทีมวิจัยคาดการณ์ว่าการว่ายน้ำกลับหัวแบบนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากส่วนเหยื่อที่ยื่นยาวออกมาบริเวณหัว การว่ายน้ำกลับหัวทำให้ส่วนที่เหมือนเหยื่อนั้นยื่นไปใกล้กับพื้นทะเลได้ใกล้ที่สุด หรืออาจจะง่ายต่อการยื่นเข้าไปตามพืชทะเล เพื่อหาอาหารได้ง่ายกว่า
การสังเกตเห็นพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกนี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยี ROV ในการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบนิเวศในมหาสมุทร ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะมีเทคโนโลยี ROV นักวิทยาศาสตร์มักจะใช้ตัวอย่างสัตว์ทะเลที่ตายแล้วซึ่งถูกลากขึ้นมาตามอวนประมง จากนั้นเก็บเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปศึกษา แน่นอนว่าการใช้ตัวอย่างที่ตายแล้วไปศึกษา ไม่เพียงพอที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในน้ำลึกได้
ที่มาข้อมูล Interestingengineering, Nytimes, Onlinelibrary.wiley
ที่มารูปภาพ Jamstec
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67