อินเดียร่างกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake)
เทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake) ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว อินเดียเป็นประเทศแรก ๆ ที่กำลังร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้ทำสิ่งผิดกฎหมายได้
อินเดียกำลังกลายเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผ่านร่างกฎหมายสำหรับควบคุมเทคโนโลยีดีฟเฟค (Deepfake) หรือ เทคโนโลยีสร้างภาพใบหน้าบุคคลเสมือนจริงโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที (Narendra Modi) ของอินเดียแสดงความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake)
"เราวางแผนที่จะร่างกฎระเบียบ (เทคโนโลยี Deepfake)ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า" รัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศ อัชวินี ไวษนาว (Ashwini Vaishnaw) กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมกับนักวิชาการ กลุ่มอุตสาหกรรม และบริษัทโซเชียลมีเดีย
การมาถึงของเทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake) ไม่ใช่สิ่งน่ากังวลแค่ในประเทศอินเดีย แต่กำลังเป็นประเด็นระดับโลก ก่อนหน้านี้ในระหว่างการประชุมสุดยอดเสมือนจริงของกลุ่มประเทศ G20 เมื่อวันพุธที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที (Narendra Modi) ของอินเดียเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกร่วมกันควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของเทคโนโลยีดีปเฟคต่อสังคม
หลักการทำงานของ ดีปเฟค (Deepfake) จะอาศัยการเรียนรู้ด้วยตัวเองของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) ในการจำแนกลักษณะเฉพาะของใบหน้าบุคคล เช่น โครงหน้า ดวงตา จมูก ปาก ฯลฯ จากภาพถ่ายหรือวิดีโอจำนวนมาก จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างภาพใบหน้าใหม่ที่มีหน้าตาคล้ายบุคคลต้นแบบ แต่สามารถแสดงสีหน้า ท่าทาง และการแสดงออกต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
นอกจากประเทศอินเดีย ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งที่กำหนดให้ผู้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ หรือสาธารณสุขของสหรัฐฯ หรือความปลอดภัยของประเทศ จะต้องแบ่งปันข้อมูลผลการทดสอบความปลอดภัยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนที่จะเผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะ
สำหรับตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake) ที่ถูกนำไปใช้งานในที่ผิดกฎหมาย เช่น การปลอมแปลงใบหน้าบุคคลอื่นผ่านทางโลกออนไลน์เพื่อหลอกจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเริ่มมีให้เห็นคดีความในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในต่างประเทศ รวมไปถึงในประเทศไทย
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67