“Boeing 787 Dreamliner” ลงจอดบนรันเวย์น้ำแข็งแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ
เครื่องบินโบอิ้ง 787 ของสายการบิน Norse Atlantic Airways ลงจอดบนรันเวย์น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาได้สำเร็จเป็นลำแรกของเครื่องบินรุ่นนี้
สายการบินสัญชาตินอร์เวย์ประสบความสำเร็จในการนำเครื่องบิน โบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ (Boeing 787 Dreamliner) ลงจอดบนรันเวย์น้ำแข็ง ในทวีปแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ โดยนับว่าเป็นครั้งแรกของเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ที่ได้ลงจอด ณ รันเวย์บนทวีปสุดหนาวเย็นแห่งนี้อีกด้วย
โดยเที่ยวบินประวัติศาสตร์นี้ เป็นของสายการบิน นอร์ส แอตแลนติก แอร์เวยส์ (Norse Atlantic Airways) ซึ่งได้นำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลน์เนอร์ ที่บรรทุกผู้โดยสารเป็นทีมนักวิจัย 45 คน และอุปกรณ์วิจัยอีก 12 ตัน เดินทางจากสนามบิน ออสโล (Oslo) ในประเทศนอร์เวย์ มาลงจอด ณ ลานบิน โทรลล์ (Troll Airfield) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีวิจัยโทรลล์ ในบริเวณควีนม็อดแลนด์ (Queen Maud Land) ทวีปแอนตาร์กติกา
ลานบินโทรลล์นี้มีรันเวย์ที่ได้ชื่อเรียกว่า “รันเวย์น้ำแข็งสีฟ้า” เนื่องจากตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกกว้างสุดลูกหูลูกตา โดยตัวรันเวย์มีความยาว 3,000 เมตร กว้าง 60 เมตร และนับว่าเป็นรันเวย์ที่มีความท้าทายในการใ้ช้งาน เนื่องจากอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่รุนแรง
เครื่องบินที่ลงจอดที่นี่ จึงต้องได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อรองรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นและลมแรง อีกทั้งตัวลานบินยังต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาสภาพทางรันเวย์ให้อยู่ในสภาพดี
ดังนั้นเพื่อให้การลงจอดครั้งนี้สำเร็จ ทีมงานจึงใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการเตรียมการบินและเตรียมพื้นที่ลงจอด ด้วยการซ่อมแซมรอยแตกบนรันเวย์ เพิ่มชั้นหิมะ และน้ำแข็งบดบาง ๆ บนรันเวย์ เพื่อสร้างแรงเสียดทานที่จำเป็นสำหรับให้เครื่องบินสามารถบินขึ้นและลงจอดได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นอร์ส แอตแลนติก แอร์เวยส์ ก็ไม่ใช่สายการบินแรกและสายการบินเดียวที่สามารถนำเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ลงจอด ณ ดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ที่ผ่านมา สายการบินสัญชาติโปรตุเกส ไฮ-ฟลาย (Hi-Fly) ก็สามารถนำเครื่องบิน แอร์บัส A340 ลงจอดบนรันเวย์ในทวีปแอนตาร์กติกาได้สำเร็จเช่นกัน
สำหรับ แอนตาร์กติกา เป็นทวีปที่ไม่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างถาวร เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัด แต่จะมีประชากรประมาณ 4,000 คนที่พำนักอยู่ที่นั่นในช่วงฤดูร้อน และยังมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 100,000 คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวโดยเครื่องบิน หรือเรือ ในแต่ละฤดูกาล
ความสำเร็จนี้จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสการใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ในการให้บริการขนส่ง อีกทั้งยังการใช้เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ในการขนส่งแบบนี้ ยังช่วยด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้เครื่องบินลำเล็ก ๆเดินทางขนส่งสินค้าบ่อย ๆ ซึ่งจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อไปยังสิ่งแวดล้อมในทวีปแอนตาร์กติกาอีกด้วย
ข้อมูลจาก businessinsider, edition.cnn
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67