กินยังไง ให้ไร้คาร์บอน กับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกยุคใหม่ | TNN Tech Reports
ปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หรือ Single-use plastic ส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และกลายเป็นขยะทำร้ายสัตว์ทะเล
ปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หรือ Single-use plastic ส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และกลายเป็นขยะทำร้ายสัตว์ทะเล
"ซองน้ำซุปบะหมี่" ทานได้ยันถุง!
ไอเดียสุดเจ๋งนี้ มาจาก Holly Grounds (ฮอลลี่ กราวนด์) นักออกแบบด้านผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัย เรเวนส์บอร์น ลอนดอน (Ravensbourne University London) ที่ได้ออกแบบให้ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถละลายเปลี่ยนเป็นน้ำซุปเมื่อโดนน้ำร้อน
ถุงเปลี่ยนเป็นน้ำซุปนี้มีชื่อว่า Dissolvable Noodle Packaging โดยวิธีการทานเพียงแค่นำซองและเส้นบะหมี่ใส่ลงไปในชามพร้อมกัน จากนั้นเทน้ำร้อน แผ่นฟิล์มที่หุ้มบะหมี่อยู่ก็จะละลายน้ำ แล้วเปลี่ยนจากซองบะหมี่เป็นน้ำซุปรสเลิศ ไม่ต้องแกะซองแล้วทิ้งให้เป็นขยะอีกต่อไป
ส่วนใครที่สงสัยว่าทานทั้งซองแบบนี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ ตัวซองบะหมี่ผลิตจากเจลาตินที่สามารถทานและละลายน้ำได้ดี หรือพูดง่าย ๆ ว่าสิ่งนี้คือไบโอฟิล์ม ที่ใช้ส่วนผสมปลอดภัย เช่น แป้งมันฝรั่ง กลีเซอรีน และน้ำ ผสมด้วยเครื่องเทศปรุงรส ซึ่งกระบวนการผลิตนี้ ใช้เวลากว่า 24 ชั่วโมง ด้วยกัน
ถุงใส่สินค้าจากสาหร่ายใต้ทะเล
มาต่อกันที่ความพยายามของสเวย์ (Sway) สตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนีย ที่ต้องการลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเล ด้วยการใช้สาหร่ายทะเล มาทำเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทดแทนการใช้ฟิล์มบางและถุงพลาสติก ซึ่งวัสดุแบบใหม่นี้ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ทะเล ลดการสร้างกรดในมหาสมุทร และสร้างรายได้ให้กับแรงงานท้องถิ่นที่อยู่ตามชายฝั่ง
ซึ่งเหตุผลที่เลือกสาหร่ายทะเลเป็นวัสดุหลัก เพราะว่าเป็นทรัพยากรที่ช่วยดูดซับคาร์บอน โดยสามารถดูดซับคาร์บอนต่อเอเคอร์ได้มากกว่าป่าถึง 20 เท่า เติบโตได้เร็วกว่าพืชบนบกอื่น ๆ ถึง 60 เท่า และยังปลอดสารพิษ ย่อยสลายได้เร็ว เพาะพันธุ์ได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
โดยปัจจุบันบริษัทยังคงอยู่ในช่วงทดลองปรับสูตรให้เหมาะสม จากการเลือกใช้สาหร่ายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อไปสู่การทดลองใช้ระยะนำร่อง
ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าผลลัพธ์ที่พัฒนาได้ตอนนี้ เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงกว่าโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ Low-Density Polyethylene (LDPE) ที่มักนำไปทำเป็นขวดพลาสติก ฝาขวดน้ำ หรือถุงใส่ของ / และตัววัสดุที่มาจากสาหร่ายนี้ ยังสามารถทำเป็นสีใส หรือเป็นสีธรรมชาติ ที่มาจากตัวสาหร่ายเองได้ด้วย
สำหรับ สเวย์ (Sway) เป็นสตาร์ตอัปด้านวัสดุในแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยนักออกแบบจูเลีย มาร์ช (Julia Marsh) ที่ได้แรงบันดาลใจจากปัญหาวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติก ที่มีตัวเลือกไ่ม่มากนัก จนตั้งทีมพัฒนาหาวิธีสร้างวัสดุแทนพลาสติกแบบใหม่ และได้มาเป็นผลงานวัสดุจากสาหร่าย นวัตกรรมล้ำค่าใต้ทะเล แบบที่เราเห็นกันนี้เองครับ
เปลี่ยนกากธัญพืช เป็นบรรจุภัณฑ์
และปิดที่สตาร์ตอัปสิงคโปร์ เพื่อนบ้านของเรา ที่ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขยะเศษอาหาร จำพวกกากธัญพืช ด้วยการนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ หวังช่วยแก้ปัญหาการฝังกลบขยะซึ่งนอกจากจะกินพื้นที่บนโลก ยังก่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากการฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกนั่นเองครับ
สตาร์ตอัป อัลเทอร์แพ็กส์ (Alterpacks) ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มักจะนำมาทำภาชนะใส่อาหาร ด้วยการใช้วัตถุดิบจาก “กากธัญพืช” ที่หาได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็น มอลต์ ข้าวบาร์เลย์ และกากธัญพืชที่เหลือมาจากการผลิตเบียร์
ซึ่งปกติกากธัญพืชเหล่านี้ มักนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือกลบทิ้งให้เสียเปล่า แต่บริษัทจะเอามารีไซเคิล ทำเป็นวัสดุขึ้นรูปภาชนะใหม่
โดยระบุว่ากระบวนการแปรรูปกากธัญพืชที่ใช้แล้วให้เป็นภาชนะใส่อาหาร ก็จะคล้ายคลึงกับกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ที่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ทำความสะอาดวัตถุดิบ ผสมสูตร แล้วกดลงในตัวพิมพ์ภาชนะรูปต่าง ๆ
ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จะเป็นภาชนะใส่อาหาร จาน ช้อน ส้อม ที่ขึ้นรูปเป็นทรงต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ รวมถึงผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) สำหรับใช้ใส่อาหาร แช่ในช่องแช่แข็ง ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ และย่อยสลายตามธรรมชาติได้ด้วย
นอกจากนี้ยังตอบโจทย์หนึ่งในข้อจำกัดสำคัญของประเทศสิงคโปร์ตอนนี้ คือมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด อัลเทอร์แพ็กส์ จึงคิดค้นวิธีการจัดการกับขยะอาหาร แทนการฝังกลบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่เจอปัญหาข้อจำกัดด้านพื้นที่คล้ายกัน
ทั้งนี้ มีสถิติที่น่าสนใจว่า ในทุก ๆ วันจะมีขยะพลาสติก 8 ล้านชิ้นไหลลงสู่ท้องทะเลและยังมีการค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกนี้ทั้งบนเกาะที่ห่างไกล พื้นทะเลที่ลึกที่สุด และยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งพลาสติกส่วนหนึ่งก็ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเรา
ดังนั้นถ้ามีวัสดุที่มาทดแทนพลาสติกได้จริง ก็จะช่วยรักษาได้ทั้งธรรมชาติและตัวเรา
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67