รู้จัก “JAXA” องค์การอวกาศสัญชาติญี่ปุ่น
จากกรณีข่าวโครงการอวกาศของ JAXA ที่มีเด็กไทยเข้าร่วมโครงการ TNN Tech จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ JAXA ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่ที่มาจนถึงโครงการที่ประสบความสำเร็จ
JAXA เป็นชื่อที่ได้ยินในไม่กี่วันที่ผ่านมา จากกรณีการเข้าร่วมโครงการด้านอวกาศของเด็กไทยที่ประสบปัญหาเรื่องค่าเดินทาง แม้ว่าปัญหาดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจงพร้อมแสดงความพร้อมในการแก้ปัญหาแล้ว แต่หลายคนอาจยังคงสงสัยว่า JAXA คืออะไร ทำไมถึงมีโครงการอวกาศ แล้ว JAXA ทำอะไรอยู่บ้าง TNN Tech ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดในข่าวนี้
JAXA คือใครในด้านอวกาศ
หากค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะพบว่า Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) หรือที่เรียกว่าแจ็กซา ก่อตั้งในปี 2003 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 20 ปี เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว JAXA เป็นการรวมหน่วยงานด้านอวกาศของญี่ปุ่นถึง 3 หน่วยงานเข้าด้วยกัน และหน่วยงานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านการบินและอวกาศ (National Aerospace Laboratory: NAL) ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1955 ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นผู้เล่นด้านอวกาศที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานเช่นกัน
จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า JAXA มีงบประมาณรายปีอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในไทย ที่ประมาณ 94,000 ล้านบาท มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการด้านอวกาศ ตั้งแต่ดาวเทียม จรวด ยานขนส่ง ยานอวกาศ หุ่นยนต์สำรวจ (Lander) และแผนพัฒนาด้านอวกาศต่าง ๆ โดยมีสถานีภาคพื้นดิน (Ground Station) อยู่ 2 แห่ง ในจังหวัดนางาโนทั้งคู่
ภารกิจด้านอวกาศของ JAXA
ภารกิจด้านอวกาศของ JAXA เริ่มต้นจากการปล่อยอะจิไซ (Ajisai) ดาวเทียมทดลองเพื่อสำรวจภูมิมาตรศาสตร์ (Experimental Geodetic Satellite: EGS) ในปี 1986 โดยหน่วยงานด้านอวกาศในขณะนั้นที่ภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของ JAXA ก่อนพัฒนาไปสู่โครงการด้านอวกาศอื่น ๆ
โดยล่าสุดโครงการอวกาศของ JAXA คือ XRISM กล้องโทรทรรศน์อวกาศถ่ายภาพรังสีเอกซ์และสเปกโทรสโกปี ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ที่ทันสมัยที่สุดของโลกร่วมกับ NASA และในจรวดขนส่งที่ปล่อย XRISM ยังมี SLIM (Smart Lander for Investigating Moon) เพื่อไปลงจอดและสำรวจดวงจันทร์อีกด้วย
ความร่วมมือระหว่าง JAXA กับองค์กรด้านอวกาศอื่น ๆ
ปัจจุบัน JAXA มีโครงการอวกาศในมือเป็นจำนวนมาก ทั้งการพัฒนาในองค์กร และการจับมือกับหน่วยงานด้านอวกาศในต่างประเทศ ทั้งนาซา (NASA) ที่คนไทยรู้จัก ตลอดจนองค์การอวกาศยุโรป (ESA) หรือแม้แต่จิสด้า (GISTDA) ของไทยที่มีความร่วมมือด้านดาวเทียมและอวกาศ
นอกจากนี้ JAXA ยังมีโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านอวกาศของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงโครงการ Asian Try Zero-G 2023 หรือโครงการประกวดแนวคิดการทดลองสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่เป็นข่าวด้วยเช่นกัน
ที่มาข้อมูล Wikipedia
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67