TNN กองทัพสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท ให้ Lockheed Martin เพื่อพัฒนายานอวกาศนิวเคลียร์

TNN

Tech

กองทัพสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท ให้ Lockheed Martin เพื่อพัฒนายานอวกาศนิวเคลียร์

กองทัพสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท ให้ Lockheed Martin เพื่อพัฒนายานอวกาศนิวเคลียร์

กองทัพสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1,218 ล้านบาท ให้บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนเพื่อใช้ในยานอวกาศ

ห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Air Force Research Laboratory หรือ AFRL) มอบเงินจำนวน 33.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,218 ล้านบาท ให้กับบริษัทด้านการบินและอวกาศอย่างล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนเพื่อใช้ในยานอวกาศ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคโนโลยีฉุกเฉินร่วมจัดหานิวเคลียร์บนวงโคจร (Joint Emergent Technology Supplying On-Orbit Nuclear หรือ เจ็ทสัน (JETSON))


เจ็ทสัน มีเป้าหมายคือเปิดการทำงานเครื่องปฏิกรณ์ฟิชชัน (Fission reactor เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ชนิดหนึ่งที่ปล่อยพลังงานออกมาจากการแยกของนิวเคลียสของอะตอม) ซึ่งมันจะทำงานหลังจากขึ้นไปบนอวกาศแล้ว เครื่องปฏิกรณ์นี้จะสร้างพลังงานความร้อน ซึ่งความร้อนจะถูกถ่ายโอนไปยังเครื่องแปลงพลังงานสเตอร์ลิง (อุปกรณ์เปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานกล) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งพลังงานไฟฟ้านี้ก็จะใช้บนระบบและเครื่องมือต่าง ๆ ในยานอวกาศ รวมไปถึงใช้เพื่อขับเคลื่อนตัวยานอวกาศด้วย


เจ็ทสันถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องปฏิกรณ์กิโลพาวเวอร์โดยใช้เทคโนโลยีสเตอร์ลิง (Kilopower Reactor Using Stirling Technology หรือครัสตี้ (KRUSTY)) ที่องค์การนาซา (NASA) สาธิตไปเมื่อปี 2018


แบร์รี ไมล์ส (Barry Miles) ผู้จัดการโครงการเจ็ทสันกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การพัฒนานิวเคลียร์ฟิชชันเพื่อการใช้งานในอวกาศ ถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเคลื่อนที่และการสำรวจของเราในอวกาศอันกว้างใหญ่”


ล็อกฮีดจะทำงานร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์และการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ 2 บริษัทคือ สเปซ นิวเคลียร์ พาวเวอร์ (Space Nuclear Power) และบีดับเบิลยูเอ็กซ์ เทคโนโลยีส์ (BWX Technologies) ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนทบทวนการออกแบบเบื้องต้นอยู่


ทั้งนี้ภายใต้โครงการเจ็ทสันนี้ ยังมีอีก 2 บริษัทที่ได้รับเงินทุนเช่นกัน คือสตาร์ทอัพชื่อ อินทิวทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ได้รับเงิน 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 340 ล้านบาท เพื่อออกแบบแนวคิดยานอวกาศโดยใช้ระบบพลังงานไอโซโทปรังสี อีกบริษัทคือเวสติ้งเฮาส์ โกเวอร์เมนท์ เซอวิส (Westinghouse Government Services) ได้รับเงินทุน 17 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 690 ล้านบาทเพื่อวิจัยเกี่ยวกับระบบนิวเคลียร์ฟิชชันกำลังสูงบนยานอวกาศ


ที่มาข้อมูล Space, Defense

ที่มารูปภาพ NASA

ข่าวแนะนำ