เข้าใจไวรัสมากขึ้น ! นักวิจัยอาจพบ “ไวรัสที่เกาะติดอยู่กับไวรัสตัวอื่น” ครั้งแรก
นักวิจัยอาจพบไวรัสชื่อ มินิเฟลเยอร์ ที่เกาะอยู่กับไวรัสผู้ช่วยของมันชื่อ ไมด์เฟลเยอร์ เพื่อให้ตัวมันสามารถทำซ้ำตัวเองได้ภายในเซลล์โฮสต์
นักวิทยาศาสตร์อาจค้นพบไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถเกาะไวรัสตัวอื่นได้เพื่อแทรกยีนของพวกมันเข้าไปในเซลล์ของไวรัสที่เป็นโฮสต์ งานวิจัยนี้ศึกษาโดยทีม UMBC จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ (WashU) ตีพิมพ์ในวารสารที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์ “อินเตอร์เนชันแนล โซไซตี้ ออฟ ไมโครเบียล อีโคโลจี (International Society of Microbial Ecology)” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อาจจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าไวรัสจะติดเชื้อในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ซึ่งเรียกว่าโฮสต์ เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์และการอยู่รอด เช่น สัตว์ พืช และแม้แต่แบคทีเรียเพื่อทำซ้ำและแพร่กระจายตัวพวกมันเอง แต่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนว่าไวรัสสามารถเกาะติดไวรัสตัวอื่น ๆ ได้ อันที่จริงก่อนหน้านี้มีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสกับไวรัสอยู่บ้าง คือไวรัสแซทเทิลไลท์ (Satelite Virus) กับ ไวรัสตัวช่วย (Heaper Virus) ซึ่งไวรัสแซทเทิลไลท์จะต้องอาศัยไวรัสตัวช่วยเพื่อสร้างแคปซิด (เกราะป้องกันที่ห่อหุ้มสารพันธุกรรมของไวรัส) หรือเพื่อช่วยจำลอง DNA ทำให้ไวรัสทั้ง 2 ต้องอยู่ใกล้ ๆ กันในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในการศึกษาใหม่นี้พบว่าไวรัสแซทเทิลไลท์ไม่เพียงแต่อยู่ใกล้ไวรัสตัวช่วยเท่านั้น แต่ยังเกาะติดอยู่ตลอดเวลา
ที่มารูปภาพ UMBC
โดยได้อธิบายถึงไวรัสแซทเทิลไลท์แบคทีเรียเฟจ (ไวรัสที่แพร่เชื้อไปยังแบคทีเรีย) ชื่อ มินิเฟลเยอร์ (Miniflayer) ที่เกาะติดบริเวณ “คอ” ของไวรัสตัวช่วยแบคทีเรียเฟจชื่อ ไมด์เฟลเยอร์ (MindFlayer) และความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เกิดแต่ไวรัสตัวเดียวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นประมาณ 80% ของตัวอย่างที่ศึกษาเลยทีเดียว
หลังจากค้นพบความสัมพันธ์นี้ ทีมวิจัยจึงได้ตรวจสอบสาเหตุโดยการวิเคราะห์จีโนมของไวรัสแซทเทิลไลท์และไวรัสตัวช่วย รวมถึงโฮสต์ด้วย และพบว่ามินิเฟลเยอร์แตกต่างจากไวรัสแซทเทิลไลท์ตัวอื่น ๆ เพราะมันขาดยีนบางชนิดจนทำให้ไม่สามารถรวมเข้ากับ DNA ของโฮสต์ได้ ดังนั้นจึงต้องเกาะติดไมด์เฟลเยอร์ซึ่งเป็นผู้ช่วยของมันตลอดเวลาเพื่อให้ตัวมันสามารถทำซ้ำตัวเองได้ภายในเซลล์โฮสต์
ทั้งนี้การศึกษานี้ยังคงต้องได้รับการพิสูจน์เพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์นี้ถูกต้องหรือไม่ และมันจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับไวรัสตัวอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน ปูทางไปสู่อนาคตที่เราอาจเข้าใจการทำงานของไวรัสมากยิ่งขึ้น
ที่มารูปภาพ UMBC
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67