จีนพบแหล่งก๊าซมีเทนใหม่ปริมาณมากถึง 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร
จีนพบแหล่งก๊าซมีเทนใต้ดินแห่งใหม่ ที่มีปริมาณกว่า 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เมืองหยูวหลิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซานซี
บริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งชาติของจีน (CNOOC: China National Offshore Oil Corporation) ประกาศการค้นพบก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหิน (Coalbed Methane: CBM) ปริมาณกว่า 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เมืองหยูวหลิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซานซี ซึ่งจะทำให้จีนมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหินคืออะไร
ก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหิน (Coalbed Methane: CBM) หรือเรียกอีกชื่อว่า ซีเอสจี CSG (Coal Seam Gas) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อแหล่งถ่านหิน (Coalbed) เกิดการดูดซับ (Adsorption) ก๊าซมีเทนที่มีอยู่ในใต้ดิน ด้วยปัจจัยความดันจากความลึกของใต้ดินและอุณหภูมิ ทำให้ก๊าซมีเทนแทรกตัวตามแนวแหล่งถ่านหินลึกลงไปใต้ดิน อยู่ในรูปก๊าซของเหลวที่ผสมกับน้ำ
แหล่งก๊าซมีเทนหรือ CSG แห่งใหม่ ตามรายงานของซีจีทีเอ็น (CGTN) สื่อทางการของรัฐบาลจีนระบุว่าแหล่งก๊าซดังกล่าวมีชื่อว่า แหล่งก๊าซลึกเฉินฟู (Shenfu deep CBM field) เพราะแหล่งก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหินนั้นอยู่ลึกลงไป 1,500 เมตรจากผิวดิน มีปริมาณก๊าซสำรองไม่ต่ำกว่า 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากบ่อขุดเจาะกว่า 100 บ่อ แต่ละบ่อสามารถผลิตก๊าซมีเทนสูงสุดวันละ 26,000 ลูกบาศก์เมตร โดยบ่อที่ว่านี้มีความหนาของบ่อตั้งแต่ 6 - 23 เมตร
จากข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าก๊าซมีเทนที่ได้จากแหล่ง CSG นั้นจะเป็นก๊าซที่อยู่ในน้ำ ดังนั้น ในกระบวนการผลิตจึงมีการแยกน้ำออกจากก๊าซมีเทน โดยน้ำจะนำไปบำบัดและส่งไปใช้เพื่อการอุปโภค เช่น ภาคการเกษตร ปศุสัตว์ หรืออุตสาหกรรมต่อไป ส่วนก๊าซมีเทนที่อยู่ใน CSG นั้นจะนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าก๊าซมีเทนแหล่งอื่น ๆ ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากก๊าซมีเทนในแหล่ง CSG นั้นมีก๊าซหนักอย่างโพรเพนและบิวเทน รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ทำให้กระบวนการเผาไหม้มีประสิทธิภาพมากกว่า
แหล่งก๊าซมีเทน คือของขวัญจากแม่น้ำหวงเหอ
แหล่งก๊าซเฉินฟูเป็นแหล่งก๊าซลึกแห่งที่ 2 ที่จีนค้นพบ ต่อจากแหล่งก๊าซหลินเซี่ยง (Linxing field) ซึ่งทั้งสองแหล่งต่างพบในพื้นที่แอ่งตะกอนออร์ดอส (Ordos Basin) ซึ่งเกิดจากการทับถมเป็นเวลานานของตะกอนจากการพัดพาของน้ำในเขตลุ่มแม่น้ำหวงเหอ หรือแม่น้ำเหลือง จนซากของสิ่งมีชีวิตได้สร้างก๊าซมีเทนในระดับความลึกใต้ดิน
ชื่อ ฉางกวย ผู้ช่วยหัวหน้าวิศวกรสำรวจของ CNOOC กล่าวว่า “การค้นพบในครั้งนี้ได้ให้แนวทางสำคัญในการสำรวจในพื้นที่แอ่งตะกอนที่มีลักษณะคล้ายกัน และยังเป็นช่วยอำนวยความสะดวกในการเพิ่มการสำรองและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ”
แม้ว่าแหล่งก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหินจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางพลังงานของจีน แต่ก็แลกกับความซับซ้อนในการขุดเจาะขึ้นมาใช้กว่าแหล่งก๊าซทั่วไปที่ตื้นกว่าแหล่งก๊าซมีเทนที่แทรกในถ่านหิน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการสำรวจและขุดเจาะออกมาผลิตนั้นสูงกว่าแหล่งก๊าซทั่ว ๆ ไปตามไปด้วย
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, Department of Environment (Queensland Government)
ที่มารูปภาพ CGTN via Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67