TNN Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

TNN

Tech

Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

 Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

Facebook ประเทศไทย จาก Meta จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วนงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทย จากเมตา (Meta) จัดบรรยายให้ความรู้สื่อมวลชนและร่วมพูดคุยกับหน่วนงานภาครัฐในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” รวมถึงแบ่งปันนโยบายและแนวทางล่าสุดในการสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม 

 Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

ภาพรวมการแก้ปัญหาภัยลวงออนไลน์ของ Meta

Meta ย้ำในงานว่าได้นำนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม (Fraud and Deception) มาใช้อย่างเคร่งครัด พร้อมนำเสนอเครื่องมือและฟีเชอร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการระวังรักษาความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม อีกทั้งมีการใช้การตรวจสอบเนื้อหาผ่านบุคลากรผู้ตรวจสอบเนื้อหาและเทคโนโลยี อย่างเช่น แมชชีน เลิร์นนิง (Machine learning) เข้ามาใช้เพื่อตรวจจับเนื้อหาหรือบัญชีที่อาจมีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ของ Meta


เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ (Scam) ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย เราจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง”

 Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

การตรวจจับและป้องกันสแกมบนแพลตฟอร์มของ Meta

หากแพลตฟอร์มของ Meta พบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ตัวตน หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบต่อไป


นอกจากนี้ Meta มีการลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยี Machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชี, ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง, ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ, จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย พร้อมตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ


Meta ได้ลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดยร้อยละ 98.8 ของบัญชีปลอมตรวจพบด้วย AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ ในเดือนธันวาคมปี 2022 Meta ได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1,100 ล้านชิ้น ซึ่งตรวจจับด้วย AI กว่าร้อยละ 95.3 เช่นกัน 

 Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

มาตรฐานการโฆษณาของ Meta

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ได้กล่าวเสริมว่า “การป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มของเราถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือของ Meta โดยนโยบายของเราไม่อนุญาตโฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากเราตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณาของเรา เราจะดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที”


กระบวนการดำเนินงานตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบายของเมตามีหลากหลายรูปแบบ มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณาของ Meta รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณาได้ด้วย


ทั้งนี้ Meta เสนอข้อมูลเพื่อการป้องกันตนเองจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและโฆษณาที่ปลอมตัวเป็นผู้อื่น เช่น การตรวจสอบตัวสะกดของเนื้อหาโฆษณา หรือตรวจสอบว่าโฆษณาชิ้นนั้นเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่แท้จริงของแบรนด์หรือธุรกิจที่คุณกำลังมีส่วนร่วมอยู่ด้วยหรือไม่


Meta จับมือภาครัฐจัดการภัยหลอกลวงออนไลน์

Meta จัดโครงการ “#StayingSafeOnline” ในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์ ห่างไกลจากวิถีสแกมเมอร์” โดยจับมือกับภาครัฐเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นการสร้างความเชื่อมันในการลงทุน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ


ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า “ดีอี ได้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับกฎหมาย หน่วยงานภาคเอกชน และ Meta เพื่อช่วยกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”


พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ร่วมเสวนากล่าวเสริมว่า “เราอยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนาการหลอกล่อที่ซับซ้อนและแนบเนียนมากขึ้น”


ปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้เช่นกัน ซึ่งในงานมีการให้ข้อมูลว่าสายด่วนดังกล่าวจะเป็นบริการแบบครบวงจร (One-stop service) ในอนาคต

 Meta เผยแนวทางรับมือปัญหาภัยลวงออนไลน์ เน้นใช้นโยบายคัดกรองและตรวจหาเชิงรุก

Meta สร้างการตระหนักรู้ภัยออนไลน์ให้คนไทย

แคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand ของ Meta เป็นการเสริมทักษะดิจิทัล เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) สแกม (scam) และการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (phishing) รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ 


โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2021 โดยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า “ในสัปดาห์นี้ เรากำลังจะเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า “ถอดรหัสสแกม” (Decode Scam) ผ่านเพจ Meta ประเทศไทย บน Facebook เพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้คำแนะนำและเคล็ดลับแก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตนเองจากเหล่าสแกมเมอร์ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น”


ที่มาข้อมูล Meta


ข่าวแนะนำ