TNN ทำความรู้จักเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชของกองทัพเรือไทย

TNN

Tech

ทำความรู้จักเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชของกองทัพเรือไทย

ทำความรู้จักเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชของกองทัพเรือไทย

ทำความรู้จักเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบที่มีศักยภาพในการทำการรบ และความทันสมัยระดับแนวหน้าของกองทัพเรือในชาติอาเซียน

เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG-471) นับเป็นชุดเรือฟริเกตของกองทัพเรือไทยที่มีความทันสมัยมากที่สุดในปัจจุบัน พัฒนาโดยบริษัท แดวู ชิพบิวดิง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง (DSME) สาธารณรัฐเกาหลีใต้ พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐอเมริกา และกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี เรือลำแรกในชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG-471) เข้าประจำการเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562 


เรือฟริเกตชั้นภูมิพลอดุลยเดชตามแผนการของกองทัพเรือไทยประกอบด้วยเรือฟริเกต 2 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG-471) และเรือหลวงประแส (FFG-472) โดยปัจจุบันต่อเรือสำเร็จเพียง 1 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ส่วนเรือหลวงประแสคาดว่าจะใช้การต่อเรือในประเทศไทย บริเวณอู่มหิดลอดุลยเดช โดยใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ


โครงการเรือฟริเกตชุดภูมิพลอดุลยเดช เกิดขึ้นเพื่อทดแทนโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศเยอรมนี และความต้องการของกองทัพเรือที่ต้องการเรือฟริเกตขีดความสามารถสูง เทียบเท่าเรือพิฆาตขนาดเล็ก รวมไปถึงการจัดหาเรือรบเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ปลดประจำการ โดยจะต้องปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ เรือลำนี้ถือเป็นเรือรบที่มีศักยภาพในการทำการรบ และความทันสมัยระดับแนวหน้าของกองทัพเรือในชาติอาเซียน


สำหรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชมีความยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร และกินน้ำลึก 8 เมตร ระวางขับน้ำเต็มบรรทุก 3,700 ตัน ขับเคลื่อนด้วยระบบ CODAG (Combined Diesel and Gas) ประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซล MTU รุ่น 16V1163 M94 กำลัง 8,000 แรงม้า จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องยนต์กังหันก๊าซ General Electric รุ่น LM2500 กำลัง 29,000 แรงม้า 1 เครื่อง ความเร็วสูงสุด 33.3 นอต หรือ 61.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พิสัยปฏิบัติการ 4,000 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 7,400 กิโลเมตร 


เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชติดอาวุธด้วยปืนใหญ่ Oto Melara 76 มม. รุ่น Super Rapid ปืนกลต่อสู้อากาศยาน Rheinmetall Millennium 35 มม. ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระยะกลาง Aster 30 ขีปนาวุธต่อต้านเรือ Harpoon อาวุธในการปราบเรือดำน้ำ ประกอบด้วย ตอร์ปิโด Mk.54 อาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ฟาลังซ์ และระบบเรดาร์ควบคุมการยิง Thales SMART-S Mk.2


ส่วนท้ายของเรือรองรับการลงจอดของเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักไม่เกิน 10 ตัน พร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ที่สามารถดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลและห้องพักสำหรับการอพยพผู้ประสบภัยต่าง ๆ ชั่วคราวได้ประมาณ 100 คน


ระบบตรวจการณ์และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ประกอบด้วยเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกลแบบ Saab SEA GIRAFFE ER เรดาร์ตรวจการณ์พื้นผิวแบบ Saab Sea GIRAFFE 3-D เรดาร์ตรวจการณ์อากาศแบบ ESSM เรดาร์ตรวจจับเป้าหมายขนาดเล็กแบบ Scanter 2001 เรดาร์ค้นหาเป้าหมายขนาดเล็กแบบ UMS 4110 เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ Thales SMART-S Mk.2 และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ Thales Nederland TACTICOS


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ wikipedia.org, สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ


ข่าวแนะนำ