อินเดียเตรียมสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง และส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2040
อินเดียประกาศเป้าหมายใหญ่ที่จะสร้างสถานีอวกาศของอินเดียภายในปี 2035 และหลังจากนั้น 5 ปีจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีอวกาศของประเทศอินเดียได้รุดหน้าไปอย่างมาก อย่างเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งประสบความสำเร็จ เป็นชาติแรกในการนำยานอวกาศลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ หลังจากนั้นในเดือนกันยายนก็มีการส่งยานอวกาศไปศึกษาดวงอาทิตย์ แต่การส่งนักบินขึ้นไปยังอวกาศถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของอินเดีย
และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของอินเดียก็ได้มีการประชุมกับกรมอวกาศ (Department of Space) และประกาศเป้าหมายใหญ่ที่จะสร้างสถานีอวกาศของอินเดียภายในปี 2035 และหลังจากนั้น 5 ปี หรือในปี 2040 จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์
สถานีอวกาศที่เพิ่งประกาศแผนสร้างนี้จะตั้งชื่อว่าสถานีภารติยะ อันตริกชา (Bharatiya Antariksha) หรือสถานีอวกาศอินเดีย แต่ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายใหญ่อย่างการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์นั้น อินเดียก็มีแผนระยะใกล้เช่นกัน อย่างภารกิจที่ชื่อกากันยาน (Gaganyaan) ที่ตั้งใจจะส่งยานอวกาศที่มีลูกเรือติดไปด้วยขึ้นไปยังวงโคจรต่ำของโลกภายในปี 2025 โดยใช้ความสามารถภายในประเทศอินเดียเอง ซึ่งมีกำหนดการทดสอบสาธิตระบบการหลบหนีของลูกเรือกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Crew Escape System Test Vehicle) ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้เอง และจะส่งยานดังกล่าวไปปฏิบัติภารกิจทดสอบ 3 ภารกิจโดยไม่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วย โดยรวมแล้ว อินเดียกำลังวางแผนทดสอบประมาณ 20 ครั้ง ก่อนจะส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ
อินเดียประกาศว่าการสร้างสถานีอวกาศนี้จะเป็นการรองรับ “ความทะเยอทะยาน” อื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคตและเปิดโอกาสให้สำรวจอวกาศได้ในวงกว้าง นอกจากนี้อินเดียยังมีภารกิจอวกาศอื่น ๆ ที่สนใจอีกด้วย เช่น การพัฒนายานอวกาศสำรวจดาวศุกร์ และยานลงจอดบนดาวอังคารอีกด้วย
ที่มาข้อมูล ISROSpaceflight, Engadget
ที่มารูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67