จีนพบแหล่งแร่ล้ำค่าที่อาจมาเร่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถ EV ทั้งโลกได้ !
จีนประกาศการค้นพบแหล่งแร่ “ไนโอโบบาโอไทต์” แร่กลุ่ม “แรร์เอิร์ธ” ที่ใช้ในอุตสาหกรรมขั้นสูงทั่วโลกต้องการ โดยคาดว่ามีปริมาณมากพอใช้ทั้งประเทศแบบไม่ง้อการนำเข้าอีกต่อไป
ฟิวเชอร์ริซึม (Futurism) อ้างรายงานข่าวจากเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (South China Morning Post: SCMP) ว่า จีนได้ประกาศการค้นพบแหล่งแร่ “ไนโอโบบาโอไทต์” (Niobobaotite) แร่ในกลุ่ม “แรร์ เอิร์ธ” (Rare Earth) ในปริมาณมาก โดยแร่นี้สามารถใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้า ซูเปอร์คอนดักเตอร์ (Superconductor) และลดการนำเข้าที่จีนต้องพึ่งพาสูงถึงร้อยละ 95 ของการใช้แร่ทั้งประเทศ
“ไนโอโบบาโอไทต์” (Niobobaotite) คืออะไร
นีโอโบบาโอไทต์ เป็นชื่อสารประกอบผสมที่มีทั้งแร่ไนโอเบียม (Niobium), แร่เหล็ก, ไทเทเนียม, ซิลิกอน (Silicon) และแบเรียม (Barium) ในรูปสารประกอบคลอรีน (ชื่อสูตรเคมีว่า Ba4(Nb,Ti,Fe)8O16[Si4O12]Cl) ซึ่งสามารถนำไปถลุงออกมาเป็นแร่แยกกันตามที่กล่าวไว้ทั้งหมดได้
ไนโอเบียม ถือเป็นแร่สำคัญสูง สามารถนำไปทำสารซูเปอร์คอนดักเตอร์ (Superconductor) หรือสารที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีมาก ๆ ในสภาพอุณหภูมิต่ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในเครื่องมืออุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น เครื่อง MRI ที่ใช้ในวงการแพทย์ ตลอดจนการนำไปทำระบบนิวเคลียร์ หรือใช้เป็นสารสำคัญในกระบวนการผลิตเหล็กกล้า หรือการทำแบตเตอรี่แบบใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัยในปัจจุบัน
ไนโอเบียม แร่สำคัญที่จีนอาจใช้เขย่าโลกได้
จากรายงานของ SCMP ระบุว่าจีนนำเข้าแร่ไนโอเบียมกว่าร้อยละ 95 จากความต้องการใช้ทั้งหมดภายในประเทศ โดยจีนค้นพบแหล่งแร่ไนโอโบบาโอไทต์ที่ เขตเหมืองป้าหยัน เอ้อปั๋ว (Bayan Obo Mining District) ในเขตมองโกเลียใน โดยมีบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติ (China National Nuclear Corporation) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยกล่าวอ้างอีกว่า แร่ดังกล่าวได้รับหมายเลขอนุมัติอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการจำแนกประเภทของสมาคมแร่วิทยาระหว่างประเทศแล้ว
ในปัจจุบัน บราซิลเป็นผู้ส่งออกแร่ไนโอเบียม เจ้าหลักกว่าร้อยละ 70 ตามมาด้วยแคนาดาที่กวาดส่วนแบ่งที่เหลืออีกร้อยละ 30 แต่ถ้าหากแหล่งแร่ไนโอโบบาโอไทต์แห่งใหม่นี้มีคุณภาพสูงเพียงพอ ก็จะเป็นการเขย่าวงการแร่ไนโอเบียมทั่วโลก ทำให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกหน้าใหม่ที่มีแร่ไนโอเบียมสำรองสูง แต่จีนยังต้องเจอคู่แข่งรายใหม่อีกรายคือสหรัฐอเมริกาที่เตรียมเปิดเหมืองแร่ไนโอเบียมเร็ว ๆ นี้เช่นกัน
การค้นพบแร่ไนโอเบียมของจีนยังเป็นการเร่งพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่ที่ชื่อว่าไนโอเบียมลิเทียม (Niobium-lithium) ซึ่งสามารถชาร์จไฟในระยะเวลาน้อยกว่า 10 นาที โดยไม่มีปัญหาความร้อนสะสมจนเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อชาร์จด้วยกำลังไฟสูงแบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่เป็นต้นเหตุให้แบตเตอรี่ต้องใช้ระยะเวลาชาร์จเป็นชั่วโมงอยู่ในปัจจุบัน และอาจเป็นการแข่งขันทางอ้อมกับการพัฒนาแบตเตอรี่แบบโซลิด-สเตท (Solid-state) ที่โตโยต้า (Toyota) ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังกำลังพัฒนาขึ้นมา เพราะว่าจุดเด่นของแบตเตอรี่โซลิด-สเตทนั้นคือระยะเวลาชาร์จที่ไม่เกิน 10 นาที ตามที่โตโยต้ากล่าวอ้างเช่นกัน
ที่มาข้อมูล Futurism
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67