TNN เทคโนโลยีบล็อกเชนที่รัฐบาลเลือกใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

TNN

Tech

เทคโนโลยีบล็อกเชนที่รัฐบาลเลือกใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

เทคโนโลยีบล็อกเชนที่รัฐบาลเลือกใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

ทำความรู้จักเทคโนโลยีบล็อกเชนที่รัฐบาลเลือกใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ? รวมไปถึงตัวอย่างเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ถูกนำมาใช้งานจริง

รัฐบาลมีแนวคิดแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยผู้ที่มีสิทธิรับเงินต้องมีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ผ่านการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมา และต้องใช้เงินดิจิทัลในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้เงินในภูมิลำเนาของตัวเองตามบัตรประชาชน อย่างไรก็ตามตัวเลขรัศมี 4 กิโลเมตร อาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ในเมืองและชนบท


สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนการค้าและเคยยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลมาก่อน เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยรัฐบาลจะนำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาประเทศ สำหรับร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าสามารถเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกัน ด้วยการซื้อขายสินค้าหรือวัตถุดิบกับร้านที่จดทะเบียนการค้าโดยใช้เงินดิจิทัล


เทคโนโลยีบล็อกเชน คืออะไร ?


เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของระบบข้อมูลแบบรวมศูนย์กลางอำนาจที่ใช้การตรวจสอบและตัดสินใจจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียว โดยเปลี่ยนเป็นระบบกระจายการเก็บข้อมูลไปยังเครือข่ายบล็อกเชนเรียกว่า Node ต่าง ๆ ทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูล มีลักษณะเป็นการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เมื่อมีจำนวนการเก็บข้อมูลจำนวนหลาย Node การปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลในเฉพาะบาง Node จึงเกิดขึ้นได้ยาก เราเรียกเครือข่ายในลักษณะนี้ว่าการกระจายศูนย์ (Decentralization)


ลักษณะของเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยทั่วไปจะมีการแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ 


1. บล็อกเชนแบบสาธารณะ (Public Blockchain) หรือ เครือข่ายแบบเปิดและกระจายให้สามารถตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องได้ ข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ถูกจัดเก็บไว้ในองค์กรหรือหน่วยงานเดียวทำให้ยากต่อการปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูล

2. บล็อกเชนส่วนตัว (Private Blockchain) หรือ เครือข่ายแบบปิดสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรม โดยการควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แม้จะมีข้อดีในด้านของการรักษาความลับของข้อมูลแต่ไม่มีการกระจายศูนย์ อาจทำให้สามารถแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลเกิดขึ้นได้

3. บล็อกเชนเฉพาะกลุ่ม (Consortium Blockchain) แนวคิดการใช้งานบล็อกเชนเฉพาะกลุ่ม โดยการรวมเอาบล็อกเชนแบบสาธารณะเข้ากับบล็อกเชนแบบส่วนตัวเข้าไว้ด้วยกัน โดยการบริหารจัดการของกลุ่มหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง


ข้อดีของเทคโนโลยีบล็อกเชน


1. ความโปร่งใสของข้อมูลในบล็อกเชน กระจายไปเก็บข้อมูลใน Node ทำให้สามารถตรวจสอบได้โดยทุกคนในเครือข่าย เพิ่มความโปร่งใสของชุดข้อมูลมากขึ้น

2. ความปลอดภัยของข้อมูลในบล็อกเชนไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับข้อมูลในเครือข่ายที่เก็บไว้ใน Node อื่น ๆ ทำให้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย

3. ประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมในบล็อกเชนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามความเร็วในการทำธุรกรรมขึ้นอยู่กับเครือข่ายบล็อกเชนที่ถูกใช้งาน เทคโนโลยีบล็อกเชนจากผู้พัฒนาบ่างแห่งอาจมีความล้าช้าและค่าใช้จ่ายสูง

4. ความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของการเงิน การตรวจสอบสินค้าด้านการเกษตร หรือการเลือกตั้งก็สามารถใช้ยืนยันข้อมูลที่ถูกต้อง


ข้อเสียของเทคโนโลยีบล็อกเชน


1. ต้นทุนการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้อาจต้องใช้ต้นทุนสูง และหากไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้กลายเป็นการลงทุนพัฒนาระบบที่ใช้งานเพียงครั้งเดียวในยุครัฐบาลนั้น ๆ

2. เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

3. ข้อมูลการใช้เงินดิจิทัลกระเป๋าเงินบนบล็อกเชนอาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะกรณีที่ใช้บล็อกเชนแบบเปิดสาธารณะ (Public Blockchain)

4. หากรัฐบาลใช้บล็อกเชนแบบกระจายอำนาจอาจไม่สอดคล้องกับข้อบังคับบางประการขององค์กรด้านการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมบริหารจัดการการเงินของประเทศ


แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะได้รับการออกแบบมาให้มีการเชื่อมต่อของเครือข่ายข้อมูลที่เข้ารหัสและมีความแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบล็อกเชนทุกรูปแบบจะมีความปลอดภัยสูงทั้งหมด ความปลอดภัยของข้อมูลยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะโดนเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาทำการแก้ไขและทำลายเครือข่ายข้อมูล เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนา


ตัวอย่างเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เคยถูกนำมาใช้งาน


เทคโนโลยีบล็อกเชนถูกนำมาใช้งานในหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เป็นที่นิยมและถูกใช้งานมากที่สุดเป็นการใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงินรูปแบบเหรียญหรือธนบัตรที่ใช้งานในปัจจุบันเรียกว่าเงินเฟียต (Fiat) โดยมีสกุลเงินต่าง ๆ ตามแต่ละประเทศ เช่น เงินบาทไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าของเงินเฟียตอ้างอิงจากอุปสงค์และอุปทานความต้องการซื้อขาย รวมไปถึงอัตราการแลกเปลี่ยน เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานในประเทศไทยนั้น ๆ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อมูลค่าของเงินบาท เช่น สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน


สำหรับเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เช่น เงินสกุล Bitcoin ใช้การอ้างอิงมูลค่าจากอุปสงค์และอุปทานเช่นเดียวกัน แต่ไร้ตัวกลางในการควบคุม กล่าวคือ ราคา Bitcoin จะสูงขึ้นหากมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ราคา Bitcoin จะลดลงหากมีความต้องการซื้อลดลง โดยจำนวนของ Bitcoin ถูกจำกัดเอาไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ถูกขุดขึ้นมาแล้วประมาณ 19 ล้านเหรียญ และไม่สามารถสร้างเพิ่มหรือปลอมแปลงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน 


การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การใช้งานด้านระบบสาธารณสุขเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วยการเข้ารหัสบนเครือข่ายบล็อกเชน ทำให้มีความปลอดภัยและยากต่อการปลอมหรือแก้ไขข้อมูล ข้อมูลการแพทย์ของบุคคลนั้น ๆ ถูกเก็บไว้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล การเก็บข้อมูลการผลิตสินค้าทางการเกษตรไปจนถึงการจัดวางจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ สามารถสืบค้นเส้นทางการผลิตและการขนส่งอย่างเป็นระบบโดยใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและปลอดภัยสูง


ที่มาของข้อมูล Zipmex, Kubix





ข่าวแนะนำ