รู้จัก 14 โปรเจกต์ใหญ่ยักษ์แห่งอนาคตของซาอุดิอาระเบีย
รวมโปรเจกต์แห่งอนาคตสุดทะเยอทะยานของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นแผนวิสัยทัศน์พัฒนาประเทศภายในปี 2030 ของมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หวังจะเป็นจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางใฝ่ฝัน
ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำอย่างนีออม (Neom) ของซาอุดิอาระเบีย แต่นั่นเป็นเพียง 1 ใน 14 โปรเจกต์เท่านั้น ซึ่งเป็นแผนวิสัยทัศน์พัฒนาประเทศภายในปี 2030 ของมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) แต่ละโปรเจกต์มีขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานที่จะสร้างจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางใฝ่ฝัน เอาล่ะ มีโปรเจกต์อะไรบ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร และมันจะเป็นจุดหมายปลายทางที่เราอยากไปเยือนสักครั้งจริงหรือไม่ ไปดูกัน
1. นีออม (Neom)
นี่เป็นโปรเจกต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของซาอุดิอาระเบีย นีออมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยโปรเจกต์ย่อยอีกกว่า 10 โปรเจกต์ ที่ตอนนี้เพิ่งประกาศไปแค่ 4 โปรเจกต์เท่านั้น คือ
เดอะไลน์ (The Line) ซึ่งเป็นเมืองขนาดยาวกว่า 170 กิโลเมตร กว้าง 200 เมตร และสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการ เมืองนี้จะไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ ไม่มีการปล่อยมลพิษและจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป้าหมายของโปรเจกต์นี้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
โปรเจกต์ที่ 2 เป็นเมืองท่าลอยน้ำทรงแปดเหลี่ยมชื่อออกซากอน (Oxagon) เป้าหมายคือเพื่อเป็นศูนย์โลจิสติกส์แห่งใหม่ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ตต่อไปในอนาคต
โปรเจกต์ที่ 3 ชื่อโทรเจน่า (Trojena) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีหิมะปกคลุม อุณหภูมิตลอดทั้งปีโดยเฉลี่ยจะเย็นกว่าส่วนอื่น ๆ ของซาอุดิอาระเบียประมาณ 10 องศา กินพื้นเกือบ 60 ตารางกิโลเมตร ไฮไลท์สำคัญอื่น ๆ ในโปรเจกต์นี้ได้แก่ หมู่บ้านสกี ห้องนิรภัย ทะเลสาบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หอดูดาว และคฤหาสน์หรูหราเป็นพิเศษ
โปรเจกต์สุดท้ายที่ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วคือหมู่เกาะซินดาลาห์ (Sindalah) ครอบคลุมพื้นที่ 0.84 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะประกอบไปด้วยสโมสรเรือยอทช์ รีสอร์ทหรู 3 แห่ง สปา แบรนด์หรูกว่า 50 แบรนด์ และท่าเรือ 86 แห่ง โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2028 หมู่เกาะแห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 2,400 คนต่อวัน
2. โรชน์ (Roshn)
โปรเจกต์นี้ก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานเช่นกัน โดยจะสร้างบ้าน 400,000 หลัง เพื่อเพิ่มอัตราการถือครองบ้านเป็น 70% ภายในปี 2030 ปัจจุบันโครงการนี้สร้างบ้านไปแล้ว 6,000 หลัง อยู่ระหว่างการสร้างอีก 27,000 หลัง ทั้งยังมีการก่อสร้างสถานที่สาธารณะอื่น ๆ อีกเช่นมัสยิด 850 แห่ง โรงเรียน 2,400 แห่ง และปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น
3. เดอะ เรดซี (The Red Sea Project)
แม้จะขึ้นชื่อด้วยทะเล แต่โปรเจกต์นี้เป็นสนามบิน ออกแบบโดยบริษัทฟอสเตอร์ (Foster) บริษัทออกแบบจากสหราชอาณาจักร และพันธมิตร ที่จะสร้างสนามบินห่างจากชายหาดประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ทะเลแดงจะประกอบไปด้วยโรงแรมดีไซน์ต่าง ๆ ทั้งโรงแรมรูปวงแหวนบนเสาค้ำถ่อ รีสอร์ทที่ประกอบรวมกันเป็นลักษณะคล้ายปะการังบานหลากสี โรงแรมที่ตั้งอยู่บนเนินทรายซาอุดิอาระเบีย จำลองหมู่บ้านแบบต่าง ๆ มากมาย รวมถึงออกแบบสถาบันชีวิตทางทะเลเช่นแนวปะการังที่รีสอร์ทชื่ออะมาลา (Amaala) ด้วย
4. ดิริยาห์ (Diriyah)
โปรเจกต์นี้กินพื้นที่ 7 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของเมืองริยาร์ด อยู่ตรงกลางของอัต-ทูเรฟ (At-Turaif) ซึ่งเป็นเมืองที่อาคารต่าง ๆ สร้างขึ้นมาจากอิฐที่ทำจากโคลน อัต-ทูเรฟเป็นสถานที่มรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO) และเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษของราชวงศ์อัล ซาอูด (AI Saud) ผู้รวบรวมอาณาจักรซาอุดิอาระเบียเป็นปึกแผ่น จึงได้ชื่อว่าเป็น “บ้านเกิดของอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย”
โปรเจกต์นี้ใช้เงินทุนประมาณ 63,200 ล้านดอลลาร์ ได้รับทุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะนำโดยนายเจอร์รี อินเซริลโล (Jerry Inzerillo) ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านโรงแรม เป้าหมายของการพัฒนาโปรเจกต์นี้คือเปลี่ยนอัต-ทูเรฟ ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรม เมื่อสร้างเสร็จ โปรเจกต์นี้จะประกอบด้วยโรงแรม 38 แห่ง พิพิธภัณฑ์ 6 แห่ง และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีก 26 แห่ง ทั้งนี้ในปัจจุบันได้ผ่านการพัฒนาในช่วงแรกมาแล้ว และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว
5. สวนสาธารณะกษัตริย์ซัลมาน (King Salman Park)
นี่คือโปรเจกต์ที่มีความทะเยอทะยานที่จะเป็น “สวนสาธารณะในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” มันตั้งอยู่ใจกลางเมืองริยาด โดยจะมีพื้นที่สีเขียวขนาด 11 ตารางกิโลเมตร และต้นไม้ 1 ล้านต้น และที่น่าสนใจก็คือน้ำที่จะนำมารดต้นไม้เป็นน้ำรีไซเคิลจากน้ำใช้แล้วในเมืองแบบ 100% ทีเดียว
ที่ใจกลางอุทยานจะเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญต่าง ๆ รวมถึงอาคารขนาดใหญ่ที่เรียกว่ารอยัลอาร์ต (Royal Arts Complex) เป็นทรงปิรามิดสูง 110 เมตร กินพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางเมตร ด้านในจะมีพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมระดับโลก โรงละครแห่งชาติ และสถาบันศิลปะดั้งเดิม
6. เจดดาห์เซ็นทรัล (Jeddah Central)
โปรเจกต์นี้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมพื้นที่ 5.7 ตารางกิโลเมตรใจกลางเมืองเจดดาห์ กำหนดระยะการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ระยะแรกจะถือเป็น 45% ของโปรเจกต์และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2027 โดยจะสร้างเกี่ยวกับโรงละครโอเปร่า สนามกีฬา และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเล ในระยะต่อมาถือเป็นอีก 36% ซึ่งจะมุ่งเน้นพัฒนาในเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และฮับเกี่ยวกับความบันเทิง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2030
7. กิดดิยา (Qiddiya Project)
โปรเจกต์กิดดิยา ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองหลวงแห่งความบันเทิง กีฬา และวัฒนธรรมใหม่ของซาอุดิอาระเบีย" โปรเจกต์นี้ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเมืองริยาด ครอบคลุมพื้นที่ 367 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความบันเทิงมากมาย ทั้งสนามกีฬา ฮอลล์สำหรับจัดคอนเสิร์ต สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ และยังมีรถไฟเหาะที่ทั้งยาวที่สุด สูงที่สุด และเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
8. มูรับบา (Murabba)
โปรเจกต์นี้สร้างขึ้นเพื่อ “กำหนดเส้นขอบฟ้าใหม่ของริยาด” หรือก็คือสถานที่ขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลและมีความโดดเด่นมาก มูรับบาจะเป็นย่านการค้าและความบันเทิงที่สร้างขึ้นรอบตึกระฟ้าทรงลูกบาศก์สูง 400 เมตรที่ชื่อว่ามูคาบ (Mukaab) ซึ่งมูคาบที่ว่านี้ใหญ่ขนาดที่สามารถบรรจุตึกเอมไฟร์สเตทได้มากถึง 20 ตึกเลยทีเดียว
ตึกทรงลูกบาสก์ชื่อมูคาบนี้จะกินพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตร ด้านในจะเต็มไปด้วยร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และยังมีการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในลูกบาศก์นี้ด้วย มูคาบจะเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ อีก 19 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมันจะกลายมาเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองแห่งใหม่ของริยาดนั่นเอง
9. ซาอุดิดาวน์ทาวน์ (Saudi Downtown)
โปรเจกต์นี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมือง 12 เมืองของซาอุดิอาระเบียประกอบไปด้วยเมือง อาราร์, ดูมัต อัลจันดาล, ตาบุค, ฮาอิล, บูเรดาห์, อัลมาดินาห์, อัลคอนบาร์, อัลอาห์ซา, ทาอิฟ, อัลบาฮา, จิซาน และนัจราน ให้กลายเป็น “ตัวเมืองและจุดหมายปลายทางที่ทันสมัยและผสมผสานด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย” ซึ่งหากนับพื้นที่รวมกันก็จะมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร
10. มาซาร์ (Masar)
โปรเจกต์นี้มีขึ้นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ความยาว 3.6 กิโลเมตร และกว้าง 300 เมตร รอบ ๆ มัสยิดหลวงในนครมักกะห์ (Makkah) โดยจะมีการสร้างอาคารกว่า 205 หลัง ตอนนี้ได้เริ่มสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2035
11. อัล’อูลา (Al’Ula)
นี่เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายในการดึงนักท่องเที่ยวให้มาเยือนซาอุดิอาระเบียให้ถึง 100 ล้านคนต่อปี โปรเจกต์นี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “หลักสำคัญของความทะเยอทะยานทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของอาณาจักร”
โปรเจกต์นี้จะเป็นการพัฒนาและก่อสร้างทั้งพิพิธภัณฑ์และโรงแรมรอบ ๆ เมืองโอเอซิสโบราณที่ชื่อ อัล’อูลา ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโก มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200,000 ปี เป็นที่ตั้งของสถานที่ทางวัฒนธรรมโบราณ ภูเขาหินทราย และเครื่องเทศหลายแห่งของโลก
1 ในโรงแรมที่น่าสนใจคือโรงแรมใต้ดินที่สร้างใต้เนินเขาหินทราย ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวฝรั่งเศสชื่อฌอง นูเวล (Jean Nouvel) นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเลบานอนชื่อ ลีนา ก็อตเมห์ (Lina Ghotmeh) และพิพิธภัณฑ์ถนนเครื่องหอมออกแบบโดยนักออกแบบชาวอังกฤษชื่อ อาซิฟ ข่าน (Asif Khan)
12. เขตการเงินของกษัตริย์อับดุลลาห์ (King Abdullah Financial District : KAFD)
โปรเจกต์นี้อาจจะถือได้ว่าไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ เนื่องจากโปรเจกต์นี้สร้างขึ้นก่อนที่จะประกาศแผนวิสัยทัศน์พัฒนาประเทศปี 2030 เสียอีก ดังนั้นสิ่งก่อสร้างในดปรเจกต์นี้ส่วนใหญ่ก็สร้างเสร็จสิ้นแล้ว แต่ทั้งนี้โปรเจกต์นี้ก็ยังถือว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน โปรเจกต์นี้ประกอบด้วยสำนักงานและย่านพักอาศัยขนาดใหญ่ในกรุงริยาด ส่วนสำคัญคือหมู่ตึกขนาด 1.6 ล้านตารางเมตรที่ออกแบบโดยสตูดิโอจากเดนมาร์กชื่อ เฮนนิง ลาร์เซน (Henning Larsen) ภายในนี้จะประกอบไปด้วยตึกระฟ้ากว่า 61 ตึก และอาคารทั้งหมดก็จะเชื่อมต่อกันด้วยสะพานที่มีเครื่องปรับอากาศ ทั้งยังมีระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแล่นสัญจรอย่างทั่วถึงในโปรเจกต์นี้ด้วย ส่วนย่านใจกลางโปรเจกต์ก็จะมีทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินริยาด ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกด้วย
13. เมืองไม่แสวงผลกำไรของโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (MISK)
โปรเจกต์นี้ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิมิสก์ (MISK) ซึ่งเป็นมูลนิธิส่วนตัวของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป้าหมายของโปรเจกต์นี้คือเพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและเป็นสถานที่ที่เอาไว้สนับสนุนผู้นำในอนาคตของประเทศ แกนหลักของโปรเจกต์จะเป็นทางเดินยาวซึ่งถูกปกคลุมด้วยแผงกันแดดที่ออกแบบโดยสตูดิโอจากลอนดอนชื่อ คัลลิสัน-RTKL (CallisonRTKL) ส่วนอาคารอื่น ๆ ก็จะถูกก่อสร้างขึ้นมารอบ ๆ ทางเดินนี้ รวมถึงสถาบันศิลปะโปร่งใสที่ออกแบบโดยสตูดิโอจากบาห์เรนชื่อแอนน์ โฮลทรอป (Anne Holtrop)
14. เซเวน (Seven)
โปรเจกต์สุดท้ายมีสโลแกนว่า “ทำให้วันพรุ่งนี้สนุกสนานยิ่งขึ้น” โดยจะเป็นโปรเจกต์ที่จะพัฒนาเขตบันเทิงกว่า 10 เมืองทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงสนามกีฬาในร่ม โบว์ลิ่ง กอล์ฟ ปีนเขา โต้คลื่น ศูนย์ดิ่งพสุธา และโรงภาพยนตร์ เป้าหมายคือเพื่อให้ความบันเทิงแก่วัยรุ่นเป็นหลัก เมืองที่ประกาศไปแล้ว ได้แก่ ริยาด อัลมาดินาห์ ตะบูก และยันบู
ที่มาข้อมูล Dezeen, Arabianbusiness
ที่มารูปภาพ NEOM, Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67