พาทัวร์ 8 สนามแข่งที่ใช้จัด "เอเชียนเกมส์" สุดยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างที่หางโจวตลอด 2 สัปดาห์
TNN Tech พาชม 8 สนามกีฬา ที่ใช้จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในเมืองหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคมนี้
มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) ครั้งที่ 19 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ในเมืองหางโจว ประเทศจีน โดยเป็นการจัดการแข่งขันที่เลื่อนมาจากปี 2022 ที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และในการแข่งขันครั้งนี้เจ้าภาพได้ใช้สนามกีฬาถึง 8 แห่ง ในการจัดการแข่งขันด้วยกัน โดยแต่ละสนามมีความน่าสนใจทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบฟังก์ชันใช้งาน เพื่อให้รองรับการจัดการแข่งขันในแต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น
8 สนามกีฬาที่ใช้แข่งเอเชียนเกมส์ที่หางโจว
สำหรับสนามกีฬาทั้ง 8 แห่งนั้น ตั้งกระจายอยู่ใน 6 เมืองทั่วมณฑลเจ้อเจียงของประเทศจีน ได้แก่เมือง เต๋อชิง, จินหัว, หนิงปัว, เช่าซิง, เวินโจว และเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของมณฑล โดยทั้ง 5 เมืองจะเชื่อมต่อเข้าสู่หางโจวด้วยรถไฟความเร็วสูง
1. สนามกลาง, ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว (Hangzhou Olympic Sports Centre main stadium)
สนามกีฬาดังกล่าวสร้างขึ้นในปี 2019 เพื่อรองรับผู้ชมกว่า 80,000 คน โดยอัฒจรรย์ได้รับการออกแบบให้คล้ายกับดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทุ่งดอกบัว สถานที่มรดกโลกของหางโจว โดยออกแบบให้มีกลีบดอกบัวกว่า 56 กลีบ ล้อมรอบสนามกลาง พร้อมอาคารกีฬาแบบที่นั่งอเนกประสงค์ 10,000 ที่นั่ง
พื้นที่โดยรอบยังประกอบไปด้วยศูนย์กีฬาท้องถิ่นและกีฬาทางน้ำ, ลานคนเมือง, ร้านค้า ลานจอดรถ, และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอีกด้วย โดยเจ้าภาพจะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดงานหลักของเอเชียนเกมส์ตลอด 2 สัปดาห์ รวมถึงเป็นสถานที่ทำพิธีปิดด้วยเช่นกัน
2. อาคารสระว่ายน้ำในร่ม, ศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว (Natatorium of the Hangzhou Olympic Sports Centre)
สำหรับอาคารหลังนี้ สร้างขึ้นในปี 2021 โดยสร้างให้อาคารสระว่ายน้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับสนามกลางซึ่งสร้างเสร็จในปี 2019 รองรับผู้เข้าชมในส่วนของลานกีฬา (Arena) กว่า 18,000 ที่นั่ง และผู้ชมรอบสระว่ายน้ำกว่า 6,000 ที่นั่ง
ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้ส่วนหลังคาคล้ายกับมังกรขาวนิลที่กำลังเคลื่อนไหว โดยใช้การวางหลังคาอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ที่ต่อกันให้เหมือนเกล็ดมังกร พร้อมไฟแบบแอลอีดี (LED) ติดตั้งแต่ละมุมของส่วนโค้งเพื่อให้แสงสว่างรอบพื้นที่ ซึ่งเจ้าภาพจะใช้จัดการแข่งบาสเกตบอล, ว่ายน้ำ, ดำน้ำ, และการระบำใต้น้ำ (Synchronised swimming) ก่อนนำไปใช้เป็นศูนย์จัดงานนิทรรศการอเนกประสงค์หลังจบการแข่งขันต่อไป
3. สนามกีฬาไฮบริด - ศูนย์กีฬาคลองกงชู (Hybrid Stadium - Gongshu Canal Sports Park)
สนามกีฬาไฮบริดได้รับการออกแบบโดยอาคิ-เทคโทนิกส์ (Archi-Tectonics) สตูดิโอออกแบบชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2022 รองรับผู้ชมกว่า 5,000 ที่นั่ง ตรงกลางสนามกีฬาออกแบบให้มีสมมาตรแบบเครื่องหยกฉง ภาชนะบูชาดินโบราณของจีน พร้อมหลังคาวงรีที่ลาดตัดตรงกลางซึ่งให้ภาพใหญ่คล้ายถ้วย พร้อมการสร้างเอกลักษณ์ด้วยการคลุมส่วนหลังคาด้วยกระจก เหล็ก และไม้ไผ่ เป็นชั้น ๆ โดยสนามกีฬาแห่งนี้จะใช้เป็นที่จัดการแข่งปิงปองเป็นหลัก และจะกลายเป็นศูนย์นิทรรศการศิลปะหลังจบงานเอเชียนเกมส์
4. สนามกีฬาฮอกกี้ (Field Hockey Stadium)
สนามกีฬาแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสนามกีฬาไฮบริดคลองกงชูที่ออกแบบโดยทีมเดียวกันซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2022 เช่นกัน ตัวสนามกีฬารองรับผู้ชม 5,000 คน ปกคลุมด้วยหลังคาสีขาวชิ้นเดียวกระจายรอบคล้ายปีก มีความยาวรวม 125 เมตร ที่ทำจากกระดาษมันและร่มไม้ไผ่ โดยนอกจากจะใช้เป็นลานฮอกกี้แล้ว เจ้าภาพยังกำหนดให้สนามแห่งนี้เป็นที่ถ่ายทำรายการที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน, ลานคอนเสิร์ต, และงานอื่น ๆ ระหว่างจัดการแข่งขันด้วยเช่นกัน
5. ศูนย์วัฒนธรรมกีฬาซอฟต์บอลและเบสบอลเช่าชิง (Shaoxing Baseball and Softball Sports Cultural Centre)
สนามกีฬาเบสบอลและซอฟต์บอลดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2022 โดยมีส่วนหลังคาอัฒจรรย์ในรูปแบบที่เรียกว่า “ปีกเมฆ” ซึ่งเป็นการทำให้หลังคาคล้ายก้อนเมฆเรียวยาวที่ถักทอเป็นผืนกัน สื่อถึงเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าที่เป็นประวัติศาสตร์โลกของจีน ซึ่งเป็นสนามเบสบอลและซอฟต์บอลที่ใหญ่ที่สุดในจีนอีกด้วย
6. สนามกีฬาฟู่หยาง ยิ่นหูว (Fuyang Yinhu Sports Centre)
จุดเด่นของสนามกีฬาแห่งนี้คือระแนง (facade) ที่อยู่รอบอาคารนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 37,000 ชุด ที่สามารถหมุนในรูปแบบที่ต่างกันซึ่งสร้างเอกลักษณ์เฉพาะ ตัวอาคารมีด้วยการทั้งหมด 5 ชั้น พร้อมลานกว้างที่ติดกับภูเขา ซึ่งใช้เป็นลานยิงธนู, ยิงปืน, ขี่ม้า เป็นต้น ในระหว่างการแข่งขัน
7. สนามกีฬาโอลิมปิกเช่าชิง (Shaoxing Olympic Sports Centre)
สนามกีฬาในร่มแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2021 โดยได้รวมฟังก์ชันสนามกีฬาและศูนย์นิทรรศการเอาไว้ด้วยกัน พร้อมหลังคาสีเทาเงินที่เป็นเหมือนระลอกคลื่นน้ำ โดยมีเส้นสายของหลังคาลากจากขอบตึกด้านล่างไปจนถึงด้านบน สะท้อนตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำในเมืองเช่าชิง โดยจะใช้ที่แห่งนี้ในการจัดการแข่งบาสเกตบอลระหว่างการแข่งขัน
8. สนามม้าถงหลู (Tonglu Equestrian Centre)
สนามม้าแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2022 ที่ผ่านมา โดยประกอบไปด้วยลานหลัก, ลานฝึกซ้อมที่ควบคุมสภาพอากาศได้ (weatherproof training hall) พร้อมคอกม้า, ลู่แข่งม้าระยะ 5,000 เมตร พร้อมที่นั่งชม 3,104 ที่นั่ง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับม้าและผู้ดูแลม้า โดยเมื่อมองจากด้านบนจะพบเส้นสายของขอบอาคารที่เน้นด้วยไฟซึ่งสื่อถึงม้าตรงส่วนลานหลักของสนามม้าด้วย
และนี่คือข้อมูลของสนามกีฬาทั้งหมด 8 แห่งที่ใช้จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคมนี้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดการแข่งขันผ่าน TNN ทุกช่องทาง พร้อมเจาะลึกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของเอเชียนเกมส์ได้ผ่าน TNN Tech ทุกช่องทางเช่นกัน
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67