TNN NASA ผลิตออกซิเจนพอให้น้องหมาอยู่บนดาวอังคารได้แล้ว !?

TNN

Tech

NASA ผลิตออกซิเจนพอให้น้องหมาอยู่บนดาวอังคารได้แล้ว !?

 NASA ผลิตออกซิเจนพอให้น้องหมาอยู่บนดาวอังคารได้แล้ว !?

อัปเดตความคืบหน้าจาก NASA ที่ล่าสุดเคลมว่า หนึ่งในโครงการที่พัฒนาขึ้นมาสามารถสร้างออกซิเจนมากพอจะพาสุนัขพันธุ์เล็กไปอยู่บนดาวอังคารได้นานถึง 10 ชั่วโมง

หนึ่งในโครงการขององค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ กำลังพัฒนา คือการสร้างออกซิเจนบนดาวอังคาร เพื่อการพามนุษย์ไปอยู่บนนั้นในอนาคต ล่าสุดมีอัปเดตจากโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้นสามารถสร้างออกซิเจนที่เพียงให้สิ่งมีชีวิตอย่างสุนัขพันธุ์เล็กขึ้นไปอยู่ได้แล้ว 


รายละเอียด MOXIE โครงการสร้างออกซิเจนบนดาวอังคาร

โดยโครงการของ NASA ดังกล่าวมีชื่อว่าม็อกซี่ (MOXIE: Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment) ซึ่งมีหลักการว่าจะสร้างสภาพที่มีอากาศหายใจได้ และผ่านการทดสอบสมมติฐาน หรือ Proof of Concept ไปแล้วก่อนหน้านี้ 


โดยนับตั้งแต่ MOXIE ผ่านการทดสอบและถูกส่งไปดาวอังคารในฐานะอุปกรณ์ทดลองชุดหนึ่งในโครงการเพียร์เซอเวแรนซ์ (Perseverance) ยานสำรวจดาวอังคารที่เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา NASA พบว่า MOXIE ได้ผลิตออกซิเจนทั้งหมด 122 กรัม ซึ่งมากพอจะพาสุนัขสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กไปใช้ชีวิตบนดาวอังคารได้นานถึง 10 ชั่วโมง


แม้ว่าตัวเลข 122 กรัม ไม่ใช่ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่มากพอจะพามนุษย์ขึ้นไปอาศัยบนดาวอังคารได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เมื่อโครงการทั้งหมดต้องทำงานบนดาวอังคารโดยอยู่ห่างจากการสนับสนุนของมนุษย์กว่า 225 ล้านกิโลเมตร แต่ MOXIE ก็สามารถสร้างออกซิเจนได้หลายกรัมต่อชั่วโมงตามที่ตั้งเป้าไว้


การพัฒนา MOXIE สู่การเดินทางสำรวจอวกาศในอนาคต

แพม เมลรอย (Pam Melroy) ผู้ช่วยผู้บริหารของ NASA กล่าวว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเอาทรัพยากรธรรมชาติของดวงจันทร์และดาวอังคารมาใช้ ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์, การสร้างเศรษฐกิจบนดวงจันทร์ที่เป็นหลักเป็นฐาน, และการเปิดทางทำให้ดวงจันทร์เป็นฐานสำหรับการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารด้วย”


อย่างไรก็ตาม NASA ไม่ได้หยุดที่กำลังการผลิตเท่านี้ แต่ยังมีโครงการที่เรียกว่า MOXIE 2.0 ซึ่งเตรียมยกระดับการผลิตก๊าซออกซิเจนโดยการดึงจากอากาศบนดาวอังคาร แล้วกักเก็บในรูปแบบออกซิเจนเหลวสำหรับนักบินอวกาศในอนาคตด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ NASA ยังไม่ได้เปิดเผยกระบวนการพัฒนา MOXIE 2.0 ในตอนนี้


ทรูดี้ คอร์เทส (Trudy Kortes) ผู้อำนวยการฝ่ายสาธิตเทคโนโลยีของกองภารกิจทางวิทยาศาสตร์ของ NASA กล่าวว่า “ด้วยการพิสูจน์ว่า MOXIE เป็นสิ่งที่ทำได้จริง เราได้เข้าใกล้อนาคตที่จะให้นักบินอวกาศ ใช้ชีวิตนอกโลกบนดาวอังคารมากขึ้นแล้ว”



ที่มาข้อมูล Futurism

ที่มารูปภาพ UnsplashPixabay

ข่าวแนะนำ