TNN หุ่นยนต์หนอนจิ๋ว สำหรับตรวจสอบและซ่อมแซมภายในเครื่องยนต์ไอพ่น

TNN

Tech

หุ่นยนต์หนอนจิ๋ว สำหรับตรวจสอบและซ่อมแซมภายในเครื่องยนต์ไอพ่น

หุ่นยนต์หนอนจิ๋ว สำหรับตรวจสอบและซ่อมแซมภายในเครื่องยนต์ไอพ่น

Sensiworm หุ่นยนต์หนอนผิวนุ่ม ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบภายในของเครื่องยนต์ไอพ่นโดยไม่ต้องแยกชิ้นส่วนเครื่องบินเลย

บริษัทจีอี แอโร่สเปซ (GE Aerospace) ได้สาธิตหุ่นยนต์รูปร่างคล้ายหนอนที่วันหนึ่งอาจสามารถตรวจสอบและซ่อมแซมเครื่องยนต์ไอพ่นได้ ชื่อของมันคือเซนซิวอร์ม (Sensiworm: Soft ElectroNics Skin-Innervated Robotic Worm) ได้รับการออกแบบมาในลักษณะหุ่นยนต์ผิวนุ่ม (soft robot) เป้าหมายคือเพื่อให้บริการตรวจสอบภายในเครื่องยนต์ไอพ่นของเครื่องบิน 


ปัจจุบันการตรวจสอบภายในเครื่องยนต์จะทำโดยกล้องบอร์สโคป (borescopes) ซึ่งเป็นท่อยาวแบบยืดหยุ่น ปลายท่อจะมีกล้องวิดีโอ สอดเข้าไปเพื่อตรวจสอบ แต่ก็ยังมีปัญหาคือปัญหาเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงที่ทำให้ปลายท่อหล่นลงมา และในส่วนลึกก็ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ นี่คือส่วนที่เซนซิวอร์มถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา


ตัวแทนของจีอีกล่าวว่ามันจะช่วยมองหาปัญหาที่อาจส่งผลต่อเครื่องบิน ซึ่งก็จะลดโอกาสการหยุดทำงานของเครื่อง และในอนาคต เจ้าหุ่นยนต์หนอนตัวนี้ก็อาจสามารถซ่อมแซมเครื่องบินผ่านการควบคุมทางไกลได้ บริษัทเอาเจ้าเซนซิวอร์มในด้านวิศวกรรมการบินไปเปรียบเทียบว่าคล้ายกับหุ่นยนต์ผิวนุ่มที่ช่วยในการผ่าตัดของวงการแพทย์ที่ช่วยให้เกิดการแทรกแซงน้อย เช่นเดียวกับเจ้าหุ่นยนต์หนอนนี้ที่จะสามารถเข้าไปตรวจสอบเครื่องยนต์โดยไม่ต้องแยกชิ้นส่วนเครื่องยนต์เลย


เซนซิวอร์มจะเป็นหุ่นยนต์แบบควบคุมทางไกล สามารถคืบคลานข้ามชิ้นส่วนเครื่องยนต์ต่างๆ สามารถตรวจจับและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้โดยอัตโนมัติ มันสามารถเข้าไปยังส่วนที่อุปกรณ์อาจหยุดทำงานจากแรงโน้มถ่วง (เพราะฐานเป็นแบบดูดติด) และมันยังสามารถวัดความหนาของแผงเคลือบกั้นความร้อนได้ ที่สำคัญคือมันสามารถดมกลิ่นการรั่วไหลของก๊าซได้ด้วย รวมถึงความสามารถด้านการตรวจจับอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา จากนั้นเซนซิวอร์มก็จะส่งสภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ผ่านสัญญาณวิดีโอสดและข้อมูลแบบเรียลไทม์


ทีมวิศวกรของจีอีแอโร่สเปซได้พัฒนาหุ่นยนต์หนอนนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันในนิวยอร์ก และ UES, Inc. องค์กรในรัฐโอไฮโอที่มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้จีอีไม่ได้บอกความคืบหน้าว่าเซนซิวอร์มพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนและไม่ได้คาดการณ์ว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้งาน



ที่มาข้อมูล Newatlas, Engadget

ที่มารูปภาพ Youtube

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ