TNN รู้จักภารกิจ "มูน สไนเปอร์" การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น

TNN

Tech

รู้จักภารกิจ "มูน สไนเปอร์" การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น

รู้จักภารกิจ มูน สไนเปอร์ การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น

ทำความรู้จักภารกิจมูน สไนเปอร์ การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น ลุ้นเป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่สามารถส่งยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์

ประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าเป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่สามารถส่งยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ ภารกิจที่ถูกเรียกว่ามูน สไนเปอร์ (Moon Sniper) โดยใช้ยานอวกาศ SLIM หรือ Smart Lander for Investigating Moon ซึ่งมีจุดเด่นที่ใช้งบประมาณน้อยเพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,561 ล้านบาท แต่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำในการลงจอด


ยานอวกาศ SLIM มีลักษณะเป็นยานอวกาศขนาดความกว้าง 2.4 เมตร ยาว 2.7 เมตร และสูง 1.7 เมตร มีรูปทรงหลายเหลี่ยม ภายนอกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้แบตเตอรีลิเธียมเก็บพลังงานไฟฟ้า ตัวยานอวกาศถูกพัฒนาโดยสถาบันอวกาศและวิทยาศาสตร์อวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่น ๆ ทั่วประเทศ ดำเนินการพัฒนาและตรวจสอบ


แม้ว่าจะไม่มีรถสำรวจใช้วิ่งบนดวงจันทร์แต่ยานอวกาศ SLIM บรรทุกหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็กจำนวน 2 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์ LEV-1 พัฒนาโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เคลื่อนที่บนดวงจันทร์ด้วยการกระโดด พร้อมกับถ่ายภาพมุมกว้างของพื้นผิวดวงจันทร์ อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีและเครื่องวัดมุมเอียงของพื้นที่ หุ่นยนต์อีกตัวชื่อว่า LEV-2 หรือ Sora-Q พัฒนาโดยบริษัท โทมี (Tomy), โซนี (Sony) และมหาวิทยาลัยโดชิชา (Doshisha University) มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมปรับเปลี่ยนรูปร่างได้น้ำหนักเพียง 250 กรัม สามารถวิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ในระยะสั้น ๆ


รู้จักภารกิจ มูน สไนเปอร์ การส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรกของญี่ปุ่น


ยานอวกาศ SLIM ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XRISM กล้องโทรทรรศน์สำรวจรังสีเอ็กซ์คอสมิก (Cosmic X-ray) โดยใช้บริการของจรวด H-llA พัฒนาโดยบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) จากฐานปล่อยจรวดบริเวณศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะ ชายฝั่งเกาะทาเนกาชิมะ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น


กำหนดการของยานอวกาศ SLIM ถูกวางเอาไว้ให้ลงจอดบนดวงจันทร์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ในบริเวณที่เรียกว่า Mare Nectaris ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งบนดวงจันทร์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 101,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนสาเหตุที่ยานอวกาศ SLIM ใช้เวลาเดินทางไปดวงจันทร์นานกว่า 6 เดือน เนื่องจากต้องการประหยัดเชื้อเพลิงและใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นตัวช่วยส่งยานอวกาศ


พื้นที่ในบริเวณ Mare Nactaris บนดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่แต่ยานอวกาศ SLIM ถูกกำหนดให้ลงจอดและสำรวจพื้นที่กว้างประมาณ 100 เมตร จากจุดลงจอดเท่านั้น การลงจอดที่แม่นยำและการประมวลผลภาพ วิเคราะห์พื้นผิว และแสงขั้นสูง เพื่อค้นหาเบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดวงจันทร์ เป็นวัตถุประสงค์หลักของภารกิจยานอวกาศ SLIM จากการเปิดเผยของฮิโรชิ ยามาคาวะ ประธานองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)


ญี่ปุ่นเคยประสบกับความล้มเหลวในภารกิจนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์มาแล้ว 2 ภารกิจ ประกอบด้วย ยานอวกาศ Hakuto-R ในเดือนธันวาคมและ ยานอวกาศ OMOTENASHI ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ก่อนหน้านี้มีเพียง 4 ประเทศด้วยกันที่เคยนำยานอวกาศแบบไร้นักบินอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ คือ สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา จีนและชาติล่าสุดได้แก่ อินเดียในภารกิจจันทรายาน-3




ที่มาของข้อมูล Reuters, aljazeera, atalayar 

ที่มาของรูปภาพ JAXA

ข่าวแนะนำ