GISTDA เปิดตัว AIP จำลองสถานการณ์ Climate Change ได้ทั้งประเทศ
GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จัดงานสัมมนา “Empowering Policy Makers with Spatial intelligence” เปิดตัวนวัตกรรม AIP ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะมาช่วยสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับ
GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดงานสัมมนา “Empowering Policy Makers with Spatial intelligence” เปิดตัวนวัตกรรม AIP ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะมาช่วยสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับ เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์และประมวลผลสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่
ทาง GISTDA เผยว่านวัตกรรม AIP พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา THEOS-2 โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ คือ EEC และจังหวัดน่าน ซึ่ง AIP ไม่ได้เป็นเพียงระบบแสดงข้อมูลแผนที่ แต่เป็น Platform ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายและหน่วยปฏิบัติในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะด้านการเกษตร ด้านน้ำ ด้านภัยพิบัติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการเมือง ซึ่ง AIP จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายมองเห็นถึงสถานการณ์และมิติของปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการสร้างดัชนีชี้วัดที่จะจำลองสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและผลกระทบ รวมถึงสามารถเลือกแผนการรับมือที่เหมาะสมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้นวัตกรรม AIP ณ ปัจจุบัน ได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่การจำลองสถานการณ์ Climate Change ทั้งประเทศอีกด้วย
GISTDA ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร 7 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในการประยุกต์ใช้ AIP เพื่อผลักดันนโยบายด้านการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยลดความเสียหายและเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของเกษตรกรในประเทศไทย
นอกจากนี้ AIP จะเป็นเครื่องมือที่ยกระดับการกำหนดนโยบายของประเทศไทย ช่วยสร้างนโยบายจากข้อเท็จจริงและหลักฐานเชิงประจักษ์ในพื้นที่ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
ในงานได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 20 หน่วยงานเข้าร่วม และยังได้มีการเปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้นำร่อง โดยมี สทนช. เป็นแกนนำในการกำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ นอกจากนี้ สทนช. ยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะนำ AIP ไปใช้งานในการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนา AIP อีกด้วย
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67