เพนตากอน เปิดเว็บไซต์รายงานเกี่ยวกับ UFO ครบวงจร
กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เปิดพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถส่งรายงานการพบเห็น UFO และให้ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับรายงานต่าง ๆ ได้
กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา หรือ เพนตากอน เปิดเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของหน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานเหตุผิดปกติในทุกอาณาบริเวณ (AARO : All-domain Anomaly Resolution Office) เพื่อเป็นศูนย์รวมในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP : Unidentified Anomalous Phenomena) สู่สาธารณชน อีกทั้งยังเปิดช่องทางให้ส่งรายงานเกี่ยวกับ UAP มาให้ทางการ ซึ่งในที่นี้ มีความหมายครอบคลุมมากกว่า 'วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้' (UFO : Unidentified Flying Object) อีกด้วย
เว็บไซต์ดังกล่าว ไม่ได้อนุญาตให้ใครก็ได้ส่งรายงานเข้ามา แต่จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่รัฐบาลของสหรัฐฯ สมาชิก ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรงหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ UAP โดยตรงย้อนหลังไปถึงปี 1945 ซึ่งรายงานต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ AARO สามารถจดบันทึกประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ได้ ช่วยลดความประหลาดใจของสาธารณชน โดยการให้ข่าวกรองทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ ให้ความเป็นจริง และระบุแหล่งที่มาของ UAP โดยข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกไปจะเป็นข้อมูลในส่วนที่ถูกปลดล็อกออกจากชั้นความลับแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ AARO ได้เปิดเผยหมวดหมู่ของ UAP จำนวน 3 หมวดหมู่ ได้แก่
วัตถุลอยฟ้าที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ทันที
วัตถุหรืออุปกรณ์ทรานส์มีเดียม (ทรานส์มีเดียมสื่อถึงวัตถุที่สามารถเคลื่อนที่ผ่านสถานะหรือตัวกลางต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น)
วัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ทันที และวัตถุที่มีลักษณะ หรือการทำงาน ที่อาจจัดอยู่ใน 2 หมวดแรก
AARO ชี้ว่ากระทรวงกลาโหมถือว่า UAP เป็น "สิ่งที่ตรวจจับว่าผิดปกติที่มาจากหลายแหล่ง (เช่น ทางอากาศ ทางทะเล ทางอวกาศ) ที่ยังไม่รู้ที่มา และแสดงพฤติกรรมที่เซ็นเซอร์ตรวจจับหรือผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าใจได้ทันที” นอกจากนี้ เว็บไซต์ไม่ได้ระบุว่า UAP อาจมีต้นกำเนิดจากนอกโลกอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของเพนตากอน ชี้ให้เห็นว่าทางการสหรัฐฯ เริ่มเอาจริงเอาจังกับการสืบค้นหาคำตอบของปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP) ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งที่เราเรียกกันคุ้นหูมานานหลายสิบปีว่า จานบิน UFO หรือวัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้ ว่ามาจากนอกโลกหรือมาจากที่ไหนกันแน่
ที่มาข้อมูล Sciencealert, Space
ที่มารูปภาพ Sciencealert, History
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67