TNN นักวิทย์จำลองยาหอมทำมัมมี่ เนรมิตพิพิธภัณฑ์สู่อียิปต์โบราณ

TNN

Tech

นักวิทย์จำลองยาหอมทำมัมมี่ เนรมิตพิพิธภัณฑ์สู่อียิปต์โบราณ

นักวิทย์จำลองยาหอมทำมัมมี่ เนรมิตพิพิธภัณฑ์สู่อียิปต์โบราณ

นักวิทยาศาสตร์สร้าง 'กลิ่นแห่งนิรันดร์' กลิ่นยาหอมจากการทำมัมมี่ เพื่อพาผู้ชมพิพิธภัณฑ์ย้อนกลับไปยัง 3,500 ปีที่แล้ว และเรียนรู้ความหมายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและสถานะทางสังคมของอียิปต์โบราณ

เมื่อพูดถึงมัมมี่หลายคนอาจจะนึกถึงผ้าพันศพ ซากของสิ่งมีชีวิต และอาจทำให้คิดว่ามันจะต้องมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่รู้หรือไม่ว่ากระบวนการรักษาศพและอวัยวะเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนี ได้จำลองยาหอมที่ชื่อ ‘กลิ่นแห่งนิรันดร์ (Scent of Eternity)’ เพื่อพาผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ราวกับย้อนกลับไปยังดินแดนอียิปต์โบราณเมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว 


ยาหอมที่ว่าถูกใช้สำหรับกระบวนการรักษาอวัยวะ ตามความเชื่อชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาสารตกค้างของยาหอมที่ใช้ในการทำมัมมี่หญิงสูงศักดิ์คนหนึ่งที่ชื่อ เซเนตเนย์ (Senetnay) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 1,450 ปีก่อนคริสตกาล โดยเธอเป็นแม่นมของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 2 (Pharaoh Amenhotep II)


นักวิทย์จำลองยาหอมทำมัมมี่ เนรมิตพิพิธภัณฑ์สู่อียิปต์โบราณ

ภาพจาก NDTV


“ยาหอมที่ใช้ในกระบวนการทำมัมมี่ของเซเนตเนย์มีความโดดเด่นมาก นับว่าเป็นยาหอมที่มีส่วนประกอบซับซ้อนที่สุดในยุคนั้น” บาร์บารา ฮูเบอร์ (Barbara Huber) ผู้นำงานวิจัยจากสถาบันมานุษยวิทยามักซ์พลังค์ (Max Planck Institute of Geoanthropology) กล่าว


ฮูเบอร์และทีมศึกษาตัวอย่าง 6 ตัวอย่างของยาหอมที่ตกค้างในขวด 2 ใบ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีปอดและตับของเซเนตเนย์อยู่ ตามที่ระบุด้วยอักษรอียิปต์โบราณ ใช้การวิเคราะห์สมัยใหม่แยกสารต่าง ๆ ในยาหอมออกมา ทั้งนี้ยังขาดแคลนข้อมูลส่วนผสมที่แน่นอนอยู่บ้าง แต่ก็พบว่ายาหอมมีส่วนผสมที่ซับซ้อน เช่น ไขมันและน้ำมัน ขี้ผึ้ง น้ำมันดิน เรซินจากต้นไม้ในวงศ์สน กรดเบนโซอิกที่สามารถพบได้ในแหล่งพืชอย่างอบเชย กานพลู และสารที่เรียกว่าคูมาริน (coumarin) ซึ่งมีกลิ่นคล้ายวานิลลา ซึ่งส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมที่นำมาจากนอกอียิปต์และเป็นส่วนผสมที่นำมาทำน้ำหอมด้วย


“ตัวอย่างคือเรซินบางชนิด เช่น เรซินต้นลาร์ซน่าจะมาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตอนเหนือและยุโรปตอนกลาง สารอีกชนิดหนึ่งน่าจะเป็นเรซินที่เรียกว่าแดมเมอร์ (Dammer) ซึ่งมีเฉพาะในป่าเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาจจะเป็นเรซินจากต้นพิสตาเซีย ในกรณีที่เป็นแดมเมอร์ สิ่งนี้จะเน้นย้ำถึงเครือข่ายการค้าที่กว้างขวางของชาวอียิปต์ในช่วงกลางสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตศักราช”


ฮูเบอร์กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ร่วมมือกับนักปรุงน้ำหอม เพื่อสร้างกลิ่นยาหอมขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะนำไปใช้ในนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์โมสการ์ด (Moesgaard) ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้


กลิ่นของยาหอมได้รับการตั้งชื่อว่า “กลิ่นแห่งนิรันดร์” (Scent Of Eternity)


ดร.วิลเลียม ทัลเลตต์ (William Tullett) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ประสาทสัมผัสที่มหาวิทยาลัยยอร์ก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ กล่าวว่า "สำหรับจมูกของเราในปัจจุบัน กลิ่นที่อบอุ่น หรือกลิ่นคล้ายยางไม้ของต้นสนอาจชวนให้นึกถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่วนกลิ่นกำมะถันของน้ำมันดินอาจทำให้เรานึกถึงยางมะตอย แต่สำหรับชาวอียิปต์ กลิ่นเหล่านี้มีความหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน”


ที่มาข้อมูล Theguardian

ที่มารูปภาพ Theguardian, ndtv

ข่าวแนะนำ