TNN NASA พบจุดตกจุดสุดท้ายของยาน Luna-25 ของรัสเซีย

TNN

Tech

NASA พบจุดตกจุดสุดท้ายของยาน Luna-25 ของรัสเซีย

NASA พบจุดตกจุดสุดท้ายของยาน Luna-25 ของรัสเซีย

NASA ค้นพบหลุมปริศนาที่เชื่อว่าเป็นจุดตกจุดสุดท้ายของยานสำรวจดวงจันทร์ Luna-25 ของรัสเซีย โดยการเปรียบเทียบรูปภาพเมื่อ 14 เดือนที่แล้ว พบมีการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์

ยาน Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) ของ NASA เจอหลักฐานปริศนาที่อาจชี้ให้เห็นถึงจุดตกจุดสุดท้ายของยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ลูนาร์-25 (Luna-25) ของรัสเซีย โดยนำรูปภาพสองรูปที่มีระยะเวลาห่างกัน 14 เดือนมาเปรียบเทียบกัน พบว่ามีหลุมธรณี (crater) บนพื้นผิวดวงจันทร์เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดปะทะของลูนาร์-25 จึงเชื่อว่าเกิดจากการปะทะของยานมากกว่าที่จะเป็นการปะทะตามธรรมชาติ

NASA พบจุดตกจุดสุดท้ายของยาน Luna-25 ของรัสเซีย

ที่มาภาพ space


จุดตกของลูนาร์-25 ถูกค้นหาตามวิถีการตกกระทบที่คาดการณ์โดยหน่วยงานด้านอวกาศของรัสเซียชื่อรอสคอสมอส (Roscosmos) ซึ่งวิธีการก็คือนำภาพถ่ายที่ได้จากกล้อง Lunar Reconnaissance Orbiter Camera (LROC) ที่ถ่ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ไปเปรียบเทียบกับบริเวณเดียวกันนี้ที่เคยถ่ายไว้ก่อนหน้าในเดือนมิถุนายนปี 2022 ปรากฏว่าภาพ 2 ภาพที่ห่างกัน 14 เดือน มีหลุมธรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่บนพื้นผิวดวงจันทร์ (ตามภาพเปรียบเทียบด้านล่าง)


NASA พบจุดตกจุดสุดท้ายของยาน Luna-25 ของรัสเซีย

ภาพประกอบจาก NASA เปรียบเทียบความแตกต่างที่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ วันที่ 27 มิถุนายน 2020 (ไม่ใช่รูปล่าสุดก่อนยานตก) กับวันที่ 24 สิงหาคม 2023 หลังยานตก : ที่มาภาพ space 


“เนื่องจากหลุมธรณีใหม่นี้อยู่ใกล้กับจุดที่คาดการณ์ว่าจะเป็นจุดปะทะของลูนาร์-25 ทีม LRO จึงสรุปว่าหลุมนี้น่าจะมาจากภารกิจลูนาร์-25 มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะตามธรรมชาติ” เจ้าหน้าที่ของ NASA กล่าวในแถลงการณ์ประกาศการค้นพบเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น


หลุมธรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่บนพื้นผิวดวงจันทร์นี้มีปากปล่องกว้างประมาณ 10 เมตร ตั้งอยู่ที่ละติจูด 58 องศาใต้ จุดตกนี้อยู่ห่างจากจุดที่ลูนาร์-25 ตั้งใจจะลงจอดประมาณ 400 กิโลเมตร ซึ่งก็คือที่ละติจูด 69.5 องศาใต้


ทั้งนี้ลูนาร์-25 เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ถือเป็นการเริ่มต้นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 47 ปีของรัสเซีย นับตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งก็คือตั้งแต่รัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ชื่อของภารกิจใหม่นี้ก็ยังแฝงความภาคภูมิใจจากความสำเร็จของการสำรวจดวงจันทร์ครั้งก่อนด้วย คือภารกิจส่งกลับตัวอย่างที่ชื่อลูนาร์-24 (Luna-24)


ลูนาร์-25 เองก็ตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้ คือการเป็นยานสำรวจลำแรกที่จะลงจอดอย่างนุ่มนวลใกล้ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ พื้นที่ที่เชื่อกันว่าเต็มไปด้วยน้ำแข็งซึ่งอาจจะเป็นแหล่งทรัพยากรของมนุษยชาติได้ในอนาคต


แต่ถึงอย่างนั้นลูนาร์-25 ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามที่หวัง ทำให้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้กลายเป็นของยานจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ของอินเดีย ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม และสามารถลงจอดอย่างนุ่มนวลบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งตอนนี้จันทรายาน-3 ก็ยังคงสำรวจพื้นที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์อยู่ด้วยยานลงจอดและรถโรเวอร์ขนาดเล็ก ซึ่งหุ่นยนต์ทั้งสองตัวนี้ได้รับการออกแบบมาให้มีอายุการทำงานทั้งหมดประมาณ 14 วัน เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่าหุ่นยนต์ทั้งสองตัวนี้จะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ 


ที่มาข้อมูล space

ที่มารูปภาพ spacespacenews

ข่าวแนะนำ