ประวัติศาสตร์หน้าใหม่อินเดียก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจอวกาศ
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่อินเดียก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจอวกาศ การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จในการนำยาน Chandrayaan-3 ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ใกล้บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์กลายเป็นสัญญาณสำคัญที่อินเดียกำลังส่งไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อประกาศตนเป็นประเทศผู้นำมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศ
องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) หน่วยงานด้านอวกาศที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอินเดียก่อตั้งในปี 1969 หรือ 54 ปีก่อน แม้ในช่วงแรกจะมีปัญหาด้านงบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่อินเดียก็สามารถผลักดันตัวเองจนมีขีดความสามารถในการปล่อยยานอวกาศเต็มรูปแบบ
การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ อินเดียไม่หยุดโครงการอวกาศเอาไว้แค่ดวงจันทร์ แต่ยังมีโครงการสำรวจอวกาศอื่น ๆ ที่กำลังเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศและมวลมนุษยชาติ
1. ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ Chandrayaan-4 ภารกิจนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากภารกิจยาน Chandrayaan-3 โดยใช้ความร่วมมือกับองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เพื่อส่งรถสำรวจพร้อมอุปกรณ์ขุดเจาะพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงปี 2025-2026
2. ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ Aditya-L1 ภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจชั้นบรรยากาศด้านนอกของดวงอาทิตย์ เพื่อทำการศึกษาลมสุริยะที่มีผลกระทบต่อโลก โดยยานอวกาศลำนี้เป็นยานสำรวจลำแรกของอินเดียที่ศึกษาดวงอาทิตย์ ในช่วงปี 2023-2028
3. ภารกิจส่งมนุษย์อวกาศอินเดีย Gaganyaan อินเดียกำลังมีแผนการส่งมนุษย์อวกาศชาวอินเดียขึ้นสู่วงโคจรของโลก โดยใช้จรวดและยานอวกาศที่พัฒนาโดยอินเดีย สำหรับภารกิจ Gaganyaan 1 และ 2 เป็นภารกิจแบบไร้นักบินอวกาศเพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ภายในยานอวกาศ แต่ในภารกิจ Gaganyaan 3 เป็นก้าวสำคัญของอินเดียด้วยการส่งมนุษย์อวกาศอินเดียขึ้นสู่วงโคจรในช่วงปี 2023-2025
4. ภารกิจสำรวจดาวอังคาร Mangalyaan 2 ภารกิจสำรวจดาวอังคารต่อเนื่องจากภารกิจ Mangalyaan 1 โดยยานสำรวจมีลักษณะเป็นยานอวกาศโคจรรอบดาวอังคาร ติดตั้งกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ตรวจสอบพื้นผิวดาวอังคาร กำหนดการปล่อยยานอวกาศในช่วงปี 2024
5. ภารกิจสำรวจดาวศุกร์ Shukrayaan-1 การศึกษาดาวศุกร์ สำรวจชั้นบรรยากาศ ความดันอากาศบนพื้นผิว อุณหภูมิพื้นผิวดาวศุกร์ ค้นหาสัญญาณของชีวิตจุลินทรีย์ ในช่วงปี 2024
6. โครงการสถานีอวกาศ ISRO Space Station สถานีอวกาศแห่งแรกของอินเดียบนวงโคจรของโลก สถานีอวกาศรองรับนักบินได้ 3 คน โดยใช้ยาน Gaganyaan มีกำหนดเริ่มต้นโครงการในช่วงปี 2030-2035
ที่มาของข้อมูล Wikipedia.org, SDGS.JAXA.jp, indiandefencereview.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67