นักบิน NASA ขับเครื่องบินสอดแนม ฝ่าฝนฟ้าคะนองเพื่อศึกษาฟ้าผ่า
นักบินของนาซา (NASA) ขับเครื่องบินสอดแนมฝ่าเข้าไปในฝนฟ้าคะนอง เพื่อศึกษาฟ้าผ่า
นาซา (NASA) จับมือกับห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพเรือสหรัฐฯ (NRL) และมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ในนอร์เวย์ ภายใต้โครงการเอลอฟท์ (ALOFT) โดยได้ให้นักบินขับเครื่องบินสอดแนมเข้าสู่พายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อเก็บข้อมูลในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดใกล้และรังสีอัลตราไวโอเลตของสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากฟ้าผ่า ซึ่งปัจจุบัน ดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศยังไม่สามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวได้
เครื่องบินอีอาร์-2 (ER-2)
โดยเครื่องบินที่ใช้ชื่อว่าเครื่องบินอี-2 (ER-2) ที่ได้รับการดัดแปลงมาจากเครื่องบินยู-2 (U-2) ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) 2 ลำ ที่นาซาซื้อมาในปี 1981 และ 1989 เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่สามารถบินได้สูงเหนือ 99% ของชั้นบรรยากาศโลก
เครื่องบินทั้ง 2 ลำ ได้บินในภารกิจมากกว่า 4,500 ครั้ง สร้างสถิติบินในระดับความสูงที่สุดในปี 1998 ที่ระดับความสูง 21 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก ในขณะที่เครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปสามารถบินได้ที่ระดับความสูง 5,490 - 15,500 เมตร แต่โดยส่วนใหญ่กัปตันจะตัดสินใจโดยอยู่ที่ความสูงราว ๆ 8,500 - 12,500 เมตร เนื่องจากเป็นความสูงที่เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์
สำหรับอุปกรณ์ที่ติดตั้งไปกับเครื่องบิน คือ เครื่องตรวจจับรังสีแกมมาที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และเครื่องฟลายส์ อาย จีแอลเอ็ม ซิมูเลเตอร์ (Fly's Eye GLM Simulator) สำหรับบันทึกข้อมูลในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดใกล้และรังสีอัลตราไวโอเลตของสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากฟ้าผ่า
มหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ฟ้าผ่า
โดยภายในพายุฝนฟ้าคะนองจะมีลมหมุนวนขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว เมื่อผลึกน้ำแข็งชนกันในกระแสอากาศที่หมุนวน อิเล็กตรอนจะถูกดึงออกจากผลึก ทำให้เกิดสนามไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดฟ้าผ่า และอิเล็กตรอนเหล่านี้ยังทำให้แสงวาบของรังสีแกมมา ซึ่งเป็นคลื่นที่สั้นที่สุดและมีพลังมากที่สุดในสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า
ทั้งหมดนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่จะเกิดฟ้าผ่าได้ จากการตรวจสอบความเร็วลมในพายุ เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชนทราบได้ เพราะปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์เวลาที่จะเกิดได้
ข้อมูลจาก space.com
ภาพจาก NASA
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67