TNN ‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์

TNN

Tech

‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์

‘NEOM’ ซาอุฯ หวังพลิกฟื้นทะเลทรายเป็นสวนผัก ด้วยเรือนกระจกดัตช์

นีออม (NEOM) โครงการเมืองอัจฉริยะแห่งซาอุดีอาระเบีย จับมือกับ แวน เดอ โฮเวิน (Van Der Hoeven) บริษัทผลิตเรือนกระจกสัญชาติดัตช์ หวังพัฒนาสวนผักท่ามกลางทะเลทราย ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรเรือนกระจกของเนเธอร์แลนด์

หลังจากที่ได้เปิดตัว นีออม (NEOM) โครงการเมืองอัจฉริยะ ครบทั้ง 4 พื้นที่หลักไปแล้ว ล่าสุด ซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศความร่วมมือกับแวน เดอ โฮเวิน (Van Der Hoeven) บริษัทผลิตเรือนกระจกสัญชาติดัตช์ ในความพยายามที่จะสร้างสวนสีเขียวชอุ่มกลางทะเลทรายที่แห้งแล้งของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้เป้าหมายของโครงการเมืองแห่งอนาคตนี้ที่หวังจะเป็นดั่งโอเอซิสแห่งชีวิตที่มีความยั่งยืนด้วยตัวเองและบ้านให้กับผู้คนนับล้าน ความมั่นคงด้านอาหารจึงกลายเป็นโจทย์สําคัญสําหรับเหล่านักวางแผนเมือง


พื้นที่สีเขียวที่ว่า อยู่ในเรือนกระจก 2 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 110,000 ตารางเมตร บริเวณชานเมืองนีออม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและอากาศที่เหมาะสมกับการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะนีออม ประกอบด้วยมหานคร 4 แห่ง ได้แก่ เมืองเดอะไลน์ (The Line) , เกาะซินดาลาห์ (Sindalah) , เมืองท่า ออกเซกอน (Oxagon) และเมืองหุบเขาโทรจานา (Trojena) โดยปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างเมืองเดอะไลน์แล้ว ซึ่งลักษณะเป็นเมืองกำแพงยาวตลอดเส้นทาง 170 กิโลเมตร รองรับประชากร 9 ล้านคน พร้อมระบบพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% 


การร่วมมือกันระหว่างซาอุดีอาระเบียและบริษัทผลิตเรือนกระจกจากเนเธอร์แลนด์นี้ถือว่าเป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาดสำหรับประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแบบทะเลทราย เพราะวิทยาการทางการเกษตรที่ก้าวหน้าของเนเธอร์แลนด์ เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งมีขนาด 41,850 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1 ใน 12 ของพื้นที่ประเทศไทยนี้ กลับเป็นผู้ส่งออกทางเกษตรกรรมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น 


หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า พื้นดินมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ถูกใช้เพื่อการเกษตร โดยเกือบ 97 ตารางกิโลเมตร ถูกปกคลุมด้วยเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาพื้นที่ที่เล็กกว่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อเทียบกับการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม


เทคโนโลยีเรือนกระจกของดัตช์นี้ใช้ทรัพยากรในการทำการเกษตรที่น้อยกว่า โดยตัวอย่างหนึ่งที่วอชิงตันโพสต์กล่าวถึงคือ ในการปลูกมะเขือเทศประมาณครึ่งกิโลกรัมการเกษตรของเนเธอร์แลนด์ใช้น้ําเพียงครึ่งแกลลอน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกใช้น้ำมากกว่า 28 แกลลอน


เทคโนโลยีนีจึงสามารถสร้างประโยชน์ให้กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประสบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำ จนประเทศต้องอาศัยการนําเข้าอาหารเป็นหลักได้


นอกจากนี้ บริษัทเคยมีประสบการณ์การทำงานในตะวันออกกลางแล้ว อาทิ เรือนกระจกสำหรับเพาะชำมะเขือเทศขนาด 110,000 ตารางเมตร ในสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งนี่ถือเป็นเรือนกระจกสมัยใหม่ขนาดใหญ่แห่งแรกในภูมิภาคดังกล่าว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความตั้งใจในการสร้างเมืองแห่งอนาคต ที่มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ของซาอุดีอาระเบียมีความหวังมากขึ้น


ที่มาของข้อมูล Designboom

ที่มาของรูปภาพ NEOM 

ข่าวแนะนำ