TNN วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์พัฒนาแอปพลิเคชันแปลเสียงร้องเด็กทารก

TNN

Tech

วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์พัฒนาแอปพลิเคชันแปลเสียงร้องเด็กทารก

วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์พัฒนาแอปพลิเคชันแปลเสียงร้องเด็กทารก

วัยรุ่นคนหนึ่งในปาเลสไตน์ พัฒนาแอปพลิเคชันช่วยแปลเสียงร้องไห้ของเด็กทารก สามารถบอกได้หมดว่าเด็กกำลังหิวนม ไม่สบายตัว หรือต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ช่วยให้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเลี้ยงเด็กได้ง่ายขึ้น

เชื่อว่าหลายคนที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อยวัยทารกน่าจะเคยเจอกับปัญหาไม่แน่ใจว่าเด็กทารกกำลังร้องไห้เพราะสาเหตุอะไร เพื่อช่วยให้พ่อแม่และคนดูแลทารกน้อยทำงานได้ง่ายขึ้น วัยรุ่นหญิงชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง จึงได้พัฒนาตัวช่วยขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชัน ที่เคลมว่าช่วยระบุสาเหตุที่ทารกร้องไห้ได้

 

วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์พัฒนาแอปพลิเคชันแปลเสียงร้องเด็กทารก ภาพจากรอยเตอร์

ผลงานแอปพลิเคชันนี้ เป็นฝีมือการพัฒนาของ ลายาลี คาติบ (Layali Khatib) เด็กสาววัย 15 ปี ซึ่งเธอเล่าว่าได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า มาเตอร์ฮูด ไกด์ (Motherhood Guide) มาตั้งแต่ปี 2019 จนกระทั่งปัจจุบัน


โดยเธอได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาแอปพลิเคชัน มาจากประสบการณ์ที่ต้องช่วยคุณแม่เลี้ยงน้องสาวฝาแฝด และน้องชายแรกเกิด เธอจึงได้นำเสียงร้องไห้ของบรรดาน้อง ๆ ที่บันทึกไว้ มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันตัวนี้ ซึ่งเธอกล่าวว่ามันทำงานด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 93



วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์พัฒนาแอปพลิเคชันแปลเสียงร้องเด็กทารก ภาพจากรอยเตอร์

สำหรับการทำงานหลักของแอปพลิเคชันตัวนี้ จะใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยฟังและวิเคราะห์เสียงทารกร้องไห้ เพื่อจับคู่กับฐานข้อมูลเสียงที่มีอยู่ รวมถึงสาเหตุของการร้องไห้ในครั้งนั้น ๆ  


แต่ข้อจำกัดในตอนนี้คือ ตัวแอปพลิเคชันสามารถใช้กับเสียงร้องของทารกอายุต่ำกว่า 18 เดือนเท่านั้น ส่วนวิธีการใช้งาน ก็เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน มาเตอร์ฮูด ไกด์ (Motherhood Guide) ติดตั้งลงบนสมาร์ตโฟน 


จากนั้นเมื่อได้ยินเสียงเด็กทารกร้อง ก็ให้กดบันทึกเสียงในแอปพลิเคชัน ตัวซอฟต์แวรก็จะนำเสียงที่ได้ไปวิเคราะห์และจับคู่กับรายการสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้เด็กร้องไห้  ไม่ว่าจะเป็นความหิว ง่วงนอน ปวดท้อง หรือไม่สบายตัว ต้องการให้เปลี่ยนผ้าอ้อม และแอปพลิเคชันยังระบุแนวทางแก้ไขให้ด้วย


อย่างไรก็ตามตอนนี้ แอปพลิเคชันยังคงจำกัดการใช้งานอยู่แค่ในบางประเทศเท่านั้น ซึ่งเธอเองก็หวังว่าจะสามารถพัฒนาและปรับปรุงแอปพลิเคชันเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลกได้ในอนาคต และตั้งเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่จะช่วยวินิจฉัยโรคออทิสติกได้ด้วย



ข้อมูลจาก reutersconnect

ข่าวแนะนำ