ทึ่ง! แพทย์มะกันปลูกถ่ายไตหมูดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์สำเร็จ
ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูดัดแปลงพันธุกรรมในคนไข้ภาวะสมองตาย โดยยังสามารถทำงานได้ถึง 32 วัน นานที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกาที่ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมในคนไข้ที่มีภาวะสมองตาย เปิดเผยว่า อวัยวะดังกล่าวยังคงทำงานได้ปกติแม้จะผ่านมาแล้วถึง 32 วัน นับว่านานที่สุดที่มีการบันทึกมาและถือเป็นก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของการบริจาคอวัยวะ
นายโรเบิร์ต มอนต์โกเมอร์รี (Robert Montgomery) ผู้อำนวยการของสถาบันการปลูกถ่ายอวัยวะแลนกอนแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (the New York University Langone Transplant Institute) จากสหรัฐ ออกมายืนยันความสำเร็จดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวถึงความมั่นใจในการเริ่มต้นการศึกษาต่อในมนุษย์ที่ยังมีชีวิต
ก่อนหน้านี้ มอนต์โกเมอร์รีเคยทำการปลูกถ่ายไตหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมในร่างกายของมนุษย์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2021 ซึ่งเป็นการจุดประกายให้มีการทดลองในลักษณะเดียวกัน แต่การทดลองทั้งหมดกลับประสบความสำเร็จได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น ก่อนที่อวัยวะจะล้มเหลว
โดยการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะครั้งก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมชิ้นส่วนร่างกายสูงสุดถึง 10 แห่ง แต่การปลูกถ่ายครั้งล่าสุดใช้เพียงการดัดแปลงพันธุกรรมเพียงจุดเดียวเท่านั้น นั่นคือการ กำจัดพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโมเลกุลชีวภาพที่มีชื่อว่า “อัลฟากาล” (Alpha Gal) ซึ่งก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้และเป็นเป้าหมายสำคัญของแอนติบอดีในร่างกายมนุษย์ เมื่อทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวได้ก็จะสามารถหยุดการต่อต้านเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่อวัยวะของสัตว์เชื่อมต่อกับระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์
นอกจากนี้ทีมแพทย์ยังได้ฝังต่อมไทมัสของหมู ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไว้ที่ผนังด้านนอกของไตหมู ซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้รับการปลูกถ่ายไตเข้าใจว่าเซลล์ของหมูเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ที่ถูกปลูกถ่ายในภายหลัง
อีกทั้ง ยังมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ผ่านทางอนุมัติทางการแพทย์ร่วมด้วย ซึ่งทางมอนต์โกเมอร์รี กล่าวว่า อาจเพียงพอต่อการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์ในมนุษย์อย่างประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพซึ่งอาจเป็นไปได้ในระยะยาวเช่นกัน
ทั้งนี้ ความสำเร็จครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากครอบครัวของมอริซ โม มิลเลอร์ (Maurice "Mo" Miller) คนไข้ชายวัย 57 ปี ที่ถูกพบหมดสติอยู่ในห้องน้ำที่บ้านพักเมื่อเดือนกรกฎาคม ต่อมาแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองชนิดรุนแรงและ ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้อีก
โดยทีมแพทย์ได้นำไตทั้งสองข้างมอริซ โม มิลเลอร์ออก และได้ปลูกถ่ายไตหมูข้างหนึ่งเข้าไป ปรากฏว่าไตหมูนั้นเริ่มผลิตปัสสาวะได้ในทันที และยังพบว่าระดับของครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่ร่างกายขับผ่านทางไต อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่มีสัญญาณการปฏิเสธอวัยวะ
อีกสิ่งที่สําคัญ คือไม่มีการตรวจพบเชื้อพอร์ซีน ไซโคมีกาโลไวรัส (porcine cytomegalovirus) ซึ่งอาจทําให้เกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวนับตั้งแต่มีการปลูกถ่าย โดยทีมงานวางแผนที่จะติดตามผลต่อไปอีกหนึ่งเดือน ต่อเนื่องจากการบันทึกการทำงานของไตหมูที่ยังคงไม่พบปัญหาเรื่อยมากว่า 32 วัน นานที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมกราคม 2022 ศัลยแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (The University of Maryland Medical School) ได้ทําการปลูกถ่ายเอาหัวใจหมูให้กับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตเป็นครั้งแรกของโลก อย่างไรก็ดี ผู้รับบริจาคคนดังกล่าวก็เสียชีวิตสองเดือนหลังจากได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมู โดยมีการกล่าวอ้างว่าพบพอร์ซีน ไซโคมีกาโลไวรัสในอวัยวะที่ว่านี้
ปัจจุบันมีคนรอรับบริจาคอวัยวะในสหรัฐอเมริกามากกว่า 103,000 คน โดย ในจำนวนนั้น มี 88,000 คนต้องการไต การทดลองครั้งนี้จึงเป็นหนึ่งในความพยายามของภาคการวิจัยเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น โดยจะทำการทดลองด้วยร่างกายที่ถูกบริจาคเพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยทั่วโลกได้เข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยไม่ต้องรอการบริจาคแบบไม่มีความหวัง
ที่มาของข้อมูล France24
ที่มาของรูปภาพ Reuters
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67